ซื้อสินค้า โทร.02-5110240 | 081-4563232

ก่อนปรับปรุงห้องน้ำ 5 เรื่องสำคัญที่ควรรู้

ก่อนปรับปรุงห้องน้ำ 5 เรื่องสำคัญที่ควรรู้

ก่อนปรับปรุงห้องน้ำ 5 เรื่องสำคัญที่ควรรู้

รวมเรื่องสำคัญที่ควรรู้หากคิดจะปรับปรุงห้องน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่เล็กที่มีองค์ประกอบหลายอย่างทั้งงานระบบน้ำ ระบบไฟ งานตกแต่ง และอาจกระทบถึงงานโครงสร้างด้วยในบางกรณี

ห้องน้ำอาจเป็นห้องที่เล็กที่สุดในบ้านสำหรับใครหลายคน แต่การปรับปรุงรีโนเวตห้องน้ำกลับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมักเกี่ยวพันกับงานระบบสุขาภิบาลหากมีการเปลี่ยนตำแหน่งโถสุขภัณฑ์หรือฝักบัว รวมถึงระบบไฟตกแต่งและการเปลี่ยนกระเบื้องปูพื้น/ผนังใหม่ และอาจเกี่ยวพันกับงานโครงสร้างหากมีการขยายพื้นที่ หรือแม้แต่การซ่อมแซมโครงสร้างที่เสียหายจากปัญหารั่วซึมที่เป็นมายาวนาน SCGHOME.COM จึงมีเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการรีโนเวตห้องน้ำมาแชร์ดังนี้

1. การขยายพื้นที่ห้องน้ำควรพิจารณาระบบโครงสร้างพื้น

พื้นห้องน้ำ และพื้นระเบียง มักเป็นพื้นหล่อในที่ คือ การทำแบบสำหรับหล่อพื้น ผูกเหล็กเชื่อมกับเหล็กในคาน แล้วจึงเทคอนกรีตเพื่อให้พื้นเป็นเนื้อเดียวกับคาน ส่วนพื้นห้องทั่วไปในบ้านมักใช้แผ่นพื้นสำเร็จรูปวางเรียงกันและเทคอนกรีตทับหน้า ซึ่งรอยต่อระหว่างแผ่นพื้นสำเร็จรูปเป็นจุดเสี่ยงน้ำรั่วซึมจึงไม่เหมาะกับพื้นห้องน้ำ/พื้นระเบียง ดังนั้น หากต้องการขยายพื้นที่ห้องน้ำต้องทราบให้แน่ชัดก่อนว่าโครงสร้างพื้นที่จะขยายไปเป็นพื้นประเภทใด เพื่อจะได้ทำให้ถูกวิธี

หากพื้นที่ส่วนขยายเป็นพื้นหล่อในที่ จะสามารถเจาะพื้น (Coring) เพื่อเดินท่อระบายน้ำเพิ่มเติมได้ และต้องทำระบบกันซึมที่พื้นก่อนปูกระเบื้อง เช่น ทา/ฉาบด้วยซีเมนต์กันซึม ผนังแนวใหม่หากไม่มีคานรองรับ ควรก่อด้วยอิฐมวลเบาหรือทำระบบผนังเบา นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงระดับพื้นที่อาจจะต่างกันด้วย (พื้นห้องน้ำมักจะลดระดับพื้นต่ำกว่าระดับห้องทั่วไป)

หากพื้นที่ส่วนขยายเป็นแผ่นพื้นสำเร็จรูป แนะนำให้ใช้พื้นที่ที่ขยายเพิ่มเติมเป็นพื้นที่ส่วนแห้ง มีการทำระบบกันซึมอย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องเดินระบบท่อระบายน้ำที่พื้น อาจทำพื้นโครงเบาเพิ่มเติมและเดินระบบท่อใต้แผ่นพื้น

ยกตัวอย่างการขยายพื้นที่ห้องน้ำเดิมให้กว้างขึ้น โดยการก่อขอบปูนกั้นพื้นส่วนเปียกของน้ำเดิม จากนั้นทำการยกระดับพื้นส่วนที่จะขยับขยายให้เป็นพื้นห้องน้ำใหม่ โดยติดตั้งโครงเหล็กแล้ววางแผ่นพื้นสมาร์ทบอร์ด SCG จากนั้นติดแผ่นยางกันรั่วซึมก่อนจะปูกระเบื้องทับซึ่งรวมถึงบริเวณขอบปูนกั้นที่ก่อไว้ด้วย

ภาพ : ตัวอย่างการขยายพื้นที่ห้องน้ำเดิมให้กว้างขึ้น
ภาพ : ตัวอย่างการขยายพื้นที่ห้องน้ำเดิมให้กว้างขึ้น

2. การทำระบบกันซึม (การป้องกันน้ำซึม)

มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการรั่วซึมจากการอาบน้ำหรือการล้างห้องน้ำ เนื่องจากความชื้นหรือน้ำจะสะสมบริเวณพื้นใต้กระเบื้องห้องน้ำ โดยการซึมผ่านยาแนวกระเบื้อง (ที่เสื่อมสภาพหรือหลุดล่อน) ลงไปสะสมที่พื้นคอนกรีต เมื่อสะสมมากเข้าจนอิ่มน้ำ ก็จะเกิดการการรั่วซึมตามมา ถึงแม้คอนกรีตที่ใช้เทพื้นห้องน้ำตั้งแต่ตอนก่อสร้างจะเป็นคอนกรีตกันซึม แต่ก็สามารถเกิดการรั่วซึมได้ขึ้นอยู่กับอายุการใช้งาน การดูแลรักษา เช่น การใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ไม่กัดกร่อนพื้นผิว หมั่นยาแนวกระเบื้องอย่างน้อยทุก 5 ปี ฯลฯ หรือแม้แต่รอยแตกร้าวในเนื้อคอนกรีต บางกรณี (บ้านเก่าอายุเกิน 20 ปี) อาจพบคอนกรีตใต้พื้นกะเทาะออกจนเห็นเหล็กเสริม กรณีนี้ต้องซ่อมแซมพื้นผิวใต้พื้นคอนกรีตนี้ให้เรียบร้อยด้วย (อาจปรึกษาวิศวกรเพิ่มเติม)

ดังนั้น การรีโนเวตห้องน้ำจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ซีเมนต์กันซึมหรือปูนกันซึมเคลือบผิวคอนกรีตก่อนการปูกระเบื้องเพื่อป้องกันการรั่วซึมดังกล่าว โดยการทากันซึมหรือซีเมนต์ให้ทั่วพื้นห้องน้ำทั้งหมด และในส่วนอาบน้ำควรทาทั่วผนังด้วย (ตามขั้นตอนหรือวิธีการของผลิตภัณฑ์นั้น) แล้วทดสอบขังน้ำ 24 ชั่วโมง เพื่อทดสอบการรั่วซึมของน้ำ หากเกิดการรั่วซึม ให้ทาซีเมนต์กันซึมซ้ำอีกเที่ยว และควรตรวจสอบการยึดเกาะประสานกันได้ดี ไม่มีการหลุดล่อน หลังทดสอบควรให้ซีเมนต์กันซึมบ่มตัวประมาณ 7 วัน แล้วค่อยปูกระเบื้อง

ภาพ : คอนกรีตใต้พื้นกระเบื้องกะเทาะออกจนเห็นเหล็กเสริม
ภาพ : คอนกรีตใต้พื้นกระเบื้องกะเทาะออกจนเห็นเหล็กเสริม
ภาพ : ทาซีเมนต์กันซึมก่อนปูกระเบื้องในการรีโนเวตห้องน้ำ
ภาพ : ทาซีเมนต์กันซึมก่อนปูกระเบื้องในการรีโนเวตห้องน้ำ

3. ใช้แนวท่อเดิม (ท่อน้ำดี น้ำเสีย น้ำโสโครก) หรือเปลี่ยนแนวท่อใหม่

ในการปรับปรุงรีโนเวตห้องน้ำ โดยปกติควรคงตำแหน่งสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า และส่วนอาบน้ำไว้ เนื่องจากมีท่อระบายน้ำที่ฝังในพื้นตามการใช้งานอยู่ การปรับปรุงจะได้ไม่ยุ่งยากและสิ้นเปลืองงบประมาณมากนัก แต่หากต้องการเปลี่ยนตำแหน่งสุขภัณฑ์ ฝักบัว หรืออ่างล้างหน้าจริง หรือมีท่อเดิมเป็นท่อเหล็กที่ขึ้นสนิม ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนใช้แนวท่อใหม่ไม่ว่าจะท่อประปา (ท่อน้ำดี) หรือท่อระบายน้ำ (ท่อน้ำทิ้ง/ท่อน้ำเสีย)

สำหรับท่อประปาและท่อน้ำทิ้งที่เดินตามแนวผนังสามารถตัดต่อท่อใหม่เพิ่มจากแนวท่อเดิมได้ โดยเดินท่อประปาขึ้นฝ้าเพดานและสกัดผนังเพื่อฝังท่อใหม่ ที่สำคัญต้องดูเรื่องความลาดเอียงท่อระบายน้ำแนวใหม่จะเชื่อมสู่ระบบระบายน้ำของบ้านอย่างไรให้ไม่เกิดการอุดตัน ส่วนสุขภัณฑ์หรือส่วนอาบน้ำที่มักมีท่อระบายน้ำที่พื้น หากต้องเจาะพื้นเพื่อฝังท่อในตำแหน่งใหม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญและมีอุปกรณ์เฉพาะทางในการเจาะ รวมถึงอุดปิดรูท่อเดิมและรอยต่อระหว่างท่อใหม่กับพื้นให้สนิท

ภาพ : การสกัดพื้นผนังเพื่อพิจารณาการใช้งานของแนวท่อเดิม
ภาพ : การสกัดพื้นผนังเพื่อพิจารณาการใช้งานของแนวท่อเดิม

4. การเลือกสุขภัณฑ์ให้สัมพันธ์กับท่อโสโครกเดิม

ก่อนการเลือกซื้อสุขภัณฑ์ ให้ดูสุขภัณฑ์เดิมก่อนว่าท่อโสโครกลงพื้นหรือออกผนัง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วห้องน้ำบ้านมักใช้สุขภัณฑ์ที่มีท่อโสโครกลงพื้น การเลือกซื้อนั้นก็ไม่ยาก ให้คำนึงถึงขนาดของสุขภัณฑ์ที่เมื่อวางลงตำแหน่งแล้ว ต้องมีระยะจากกึ่งกลางท่อโสโครกถึงผนังเท่ากับระยะเดิมพอดี หรือห่างกันเล็กน้อยไม่เกิน 2 ซม. (ช่างสามารถสกัดพื้นปรับแต่งระยะได้เล็กน้อย) ปกติแล้วจะมีระยะอยู่ที่ 30.5 ซม. ดังนั้นหากมีระยะเท่ากัน ก็สามารถซื้อมาติดตั้งแทนที่ได้เลย สำหรับสุขภัณฑ์ที่มีท่อโสโครกออกผนังก็พิจารณาเรื่องระยะความสูงท่อให้เท่าเดิมเช่นกัน

ภาพ : สุขภัณฑ์ชนิดที่ท่อโสโครกเข้าผนัง
ภาพ : สุขภัณฑ์ชนิดที่ท่อโสโครกเข้าผนัง
ภาพ : ระยะจากกึ่งกลางท่อโสโครกถึงผนัง 30.5 ซม. โดยประมาณ
ภาพ : ระยะจากกึ่งกลางท่อโสโครกถึงผนัง 30.5 ซม. โดยประมาณ

5. การพิจารณาปูกระเบื้องพื้นผนังทับของเดิม

สำหรับใครที่ต้องการเปลี่ยนกระเบื้องพื้นผนังในห้องน้ำ ก็สามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก ไม่กระทบกับโครงสร้างหรืองานระบบอื่นใด จึงเป็นการปรับปรุงรีโนเวตห้องน้ำที่ทำได้เลย มี 2 วิธีการ คือ การปูกระเบื้องใหม่ทับของเดิม และ การรื้อกระเบื้องเดิมออกแล้วปูใหม่

การปูกระเบื้องใหม่ทับของเดิม

เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ช่วยประหยัดค่าแรงในการรื้อกระเบื้องเดิม ร่นระยะเวลาในการทำงาน ลดการสั่นสะเทือนจากการรื้อ และไม่มีเสียงดัง โดยการปูกระเบื้องจะต้องเลือกใช้กาวซีเมนต์รุ่นพิเศษสำหรับปูทับหน้ากระเบื้องเดิมโดยเฉพาะ เพื่อช่วยในการยึดเกาะกับกระเบื้องเดิม

ในกรณีนี้ควรพิจารณาด้วยว่า โครงสร้างเดิมสามารถรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้ หากเป็นบ้านเก่าที่มีอายุการใช้งานยาวนาน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรจะดีกว่า และสังเกตระยะห่างของประตูกับพื้นด้วย เนื่องจากพื้นจะมีระดับสูงขึ้น อาจต้องตัดประตูหรือเปลี่ยนประตูใหม่

จุดสำคัญที่สุด คือ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นผนังกระเบื้องเดิมไม่แตกร้าว ยังยึดเกาะได้ดี โดยการเคาะและฟังเสียงที่กระเบื้อง หากมีกระเบื้องแตกร้าวหรือเคาะแล้วกลวง ๆ ควรรื้อกระเบื้องเดิมออก ไม่ควรปูทับอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหารั่วซึม และหลุดล่อนได้ในอนาคต นอกจากนี้การปูกระเบื้องที่พื้นทับของเดิม ต้องมั่นใจว่าระดับความลาดเอียงพื้นเพื่อระบายน้ำดีอยู่แล้ว ไม่เคยเกิดน้ำขัง และอย่าลืมลงกันซึมก่อนปูกระเบื้องทับด้วย

ภาพ : ใช้กาวซีเมนต์รุ่นพิเศษในการติดตั้งกระเบื้องใหม่ทับพื้นกระเบื้องเดิม
ภาพ : ใช้กาวซีเมนต์รุ่นพิเศษในการติดตั้งกระเบื้องใหม่ทับพื้นกระเบื้องเดิม

การรื้อกระเบื้องเดิมออกแล้วปูใหม่

เป็นวิธีการที่รอบคอบและปลอดภัยที่สุด แต่อาจเสียเวลาในการรื้อกระเบื้องเดิมออกเพราะนอกจากรื้อกระเบื้องเดิมออกแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องสกัดปูนกาวที่พื้นผนังออกให้หมด แล้วทำระบบกันซึมที่พื้นอีกครั้งก่อนการติดตั้งกระเบื้องใหม่

ภาพ : รอยปูนกาวที่ผนังหลังจากรื้อกระเบื้องออกต้องสกัดออกให้หมดจนถึงพื้นผิวปูนฉาบ
ภาพ : รอยปูนกาวที่ผนังหลังจากรื้อกระเบื้องออกต้องสกัดออกให้หมดจนถึงพื้นผิวปูนฉาบ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว น่าจะพอนึกภาพออกว่าห้องน้ำใหม่ที่เราต้องการส่งผลกระทบกับโครงสร้างหรืองานระบบบ้างหรือไม่ หรือหากเพียงเปลี่ยนกระเบื้องพื้นผนังใหม่ ห้องน้ำของเราควรรื้อกระเบื้องเดิมออกก่อนแล้วปูใหม่ หรือปูทับไปได้เลย ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการ ความจำเป็น และงบประมาณที่ตั้งไว้ด้วยเช่นกัน

Tags
CPAC Concrete กระเบื้องหลังคา ครัวไทย คอนกรีตสําเร็จรูป ซีแพค จัดสวนในบ้าน ฉนวนกันความร้อน ฉนวนกันความร้อน scg ฉนวนกันความร้อน STAY COOL ซ่อมหลังคา ซ่อมหลังคาบ้าน ซ่อมหลังคารั่ว ดูแลบ้าน ดูแลรักษา ตกแต่งบ้าน ต่อเติม ต่อเติมครัว ต่อเติมครัวหลังบ้าน ต่อเติมครัวใหม่ ต่อเติมหลังคา บล็อกปูพื้น บล็อกปูพื้น scg บ้านร้อน บ้านสร้างใหม่ ปัญหาบ้านร้อน ปิดโพรงใต้บ้าน ฝ้าเพดาน ฟิล์มติดกระจกบ้าน รวมไอเดียร์ตกแต่งบ้าน ลดร้อนให้บ้าน วัสดุตกแต่ง วัสดุอะคูสติก เอสซีจี สมาร์ทบอร์ด หลังคา scg หลังคากันสาด หลังคารั่ว หลังคา โซล่าเซลล์ หลังคาโซล่าเซลล์ ราคา ฮวงจุ้ย เคาน์เตอร์ครัว เสือ มอร์ตาร์ แต่งบ้าน แต่งบ้านสไตล์โมเดิร์น แต่งบ้านเสริมมงคล แต่งบ้านให้น่าอยู่ แผ่นสมาร์ทบอร์ด เอสซีจี

โพสต์นี้มีความคิดเห็นเดียว

  1. ก่อนปรับปรุงห้องน้ำ 5 เรื่องสำคัญที่ควรรู้ รวมเรื่องสำคัญที่ควรรู้หากคิดจะปรับปรุงห้องน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่เล็กที่มีองค์ประกอบหลายอย่างทั้งงานระบบน้ำ ระบบไฟ งานตกแต่ง และอาจกระทบถึงงานโครงสร้างด้วยในบางกรณี

ใส่ความเห็น

×
×

Cart