
6 วิธีช่วยลดปัญหาบ้านร้อนให้บ้านหลังเดิม
6 วิธีช่วยลดปัญหาบ้านร้อนให้บ้านหลังเดิม ปัญหาบ้านร้อนจะผ่อนคลายลงได้ ด้วย 6 วิธีที่จะช่วยให้บ้านหลังเดิมเย็นขึ้น เจ้าของบ้านสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามงบประมาณ และความเหมาะสม
อากาศในบ้านเมืองเรา ไม่ว่าจะเป็นฤดูไหนๆ ก็ดูจะหลีกหนีความร้อนอบอ้าวไปไม่พ้น ยิ่งช่วงที่อากาศร้อนระอุมากๆ เราคงอยากหาวิธีที่จะช่วยคลายร้อนให้กับบ้าน การติดเครื่องปรับอากาศเพิ่ม หรือเปิดเป็นระยะเวลานานขึ้นอาจช่วยได้ แต่ค่าไฟก็จะบานปลายตามมา เรามี 6 วิธีที่จะช่วยลดร้อนในบ้านหลังเดิมแบบไม่ต้องเปลืองพลังงาน มาแนะนำกัน
1. ติดม่าน
หากเป็นม่านธรรมดา จะช่วยกันแสงแดดได้ในระดับหนึ่ง แต่จะไม่กันรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ แนะนำให้ใช้ผ้าม่านแบบสองชั้น หรือผ้าม่านเคลือบฟอยล์ ก็จะช่วยป้องกันการแผ่กระจายความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้านได้มากขึ้น
2. ติดฟิล์มกระจก
การติดฟิล์มกระจกจะช่วยลดความร้อนได้ดีกว่าการติดม่านเพียงอย่างเดียว เพราะฟิล์มกระจกจะสามารถป้องกันรังสี UV ได้ นอกจากจะช่วยลดความร้อนให้กับบ้านแล้ว ยังช่วยปกป้องเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านให้ดูใหม่อยู่เสมอ หรือหากต้องการเพิ่มความเป็นส่วนตัว อาจเลือกใช้ฟิล์มปรอทหรือฟิล์มดำ เพื่อพรางสายตาจากคนภายนอก (เมื่อภายนอกสว่างกว่าภายในบ้าน) แต่คนในบ้านยังสามารถมองเห็นบรรยากาศภายนอกบ้านได้
3. ปลูกต้นไม้
การจัดสวนปลูกต้นไม้เป็นวิธีทางธรรมชาติที่ช่วยคลายความร้อนให้กับบ้านได้เป็นอย่างดี เปรียบเสมือนเกราะป้องกันที่จะช่วยบดบังแสงแดดให้กับบ้าน จึงควรปลูกต้นไม้ในทิศที่แสงแดดส่องเข้าถึงตัวบ้าน แต่หากมีพื้นที่ไม่มากนัก อาจปลูกไม้เลื้อยบริเวณผนังบ้าน หรือทำสวนแนวตั้ง นอกจากจะไม่เปลืองพื้นที่แล้ว ยังทำให้บ้านดูสดชื่น ช่วยกรองฝุ่น และลดเสียงที่จะผ่านเข้าไปรบกวนอีกด้วย
4. ติดตั้งระแนงแผงบังแดดและกันสาด
แสงแดดสามารถเล็ดลอดเข้ามาทางช่องแสงต่างๆ ได้ ยิ่งมีขนาดบานที่ใหญ่ แดดก็ยิ่งเข้ามาได้มากเท่านั้น โดยเฉพาะห้องที่อยู่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้ เราสามารถกรองแสงแดดให้ลดน้อยลงก่อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้านได้ ด้วยการติดตั้งระแนง โดยวัสดุที่เป็นที่นิยมคือ ไฟเบอร์ซีเมนต์ เนื่องจากมีความแข็งแรง ทนแดดทนฝน และมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ นอกจากนี้ การติดตั้งกันสาด ก็จะช่วยเพิ่มร่มเงา และกันแดดกันฝนให้กับผนังบ้านได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันก็มีวัสดุหลากหลายให้เลือกใช้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น แบบโปร่งแสง เช่น ไฟเบอร์กลาส อะคริลิก และโพลีคาร์บอเนต หรือ แบบทึบแสง เช่น เมทัลชีทและไวนิล
สำหรับใครที่อยากให้ผนังภายนอกบ้านดูเรียบๆ แบบไม่ต้องมีหลังคายื่นออกมา แต่อีกใจก็รู้สึกว่าอยากมีตัวช่วยกันแดดกันฝน ก็สามารถเลือกติดตั้งกันสาดพับได้ หรือม่านม้วนแนวดิ่ง ซึ่งสามารถเปิดปิดได้เฉพาะเวลาที่ต้องการ นอกจากนี้ ยังมีหลังคาพับได้สำหรับตอบโจทย์บ้านที่ทำห้องกระจก Skylight อีกด้วย
5. ติดตั้งฉนวนบนฝ้าและผนัง
ความร้อนส่วนมากจะผ่านเข้ามาทางหลังคา ฝ้าเพดาน และผนังบ้าน โดยจะผ่านเข้ามาทางหลังคามากที่สุด การติดตั้งฉนวนกันความร้อนจึงเป็นตัวช่วยที่ดีและตรงจุด ซึ่งเราสามารถรับมือกับความร้อนจากส่วนหลังคาได้โดยการติดตั้งฉนวนกันความร้อนบริเวณเหนือฝ้าเพดาน ในส่วนผนัง เราสามารถติดตั้งผนังเบาพร้อมฉนวนกันความร้อนเพิ่มที่ผนังฝั่งที่โดนแดดจัด เพื่อลดความร้อนที่จะผ่านเข้ามาทางผนังลงได้
6. ติดตั้งระบบถ่ายเทความร้อนและระบายอากาศให้บ้าน
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการลดความร้อนในบ้านก็คือ “อัตราการระบายอากาศที่เพียงพอ” ดังนั้น ระบบที่ช่วยเร่งอัตราการระบายอากาศในบ้านอย่าง Active AIRflowTM System ดูจะมีบทบาทอย่างมากที่จะทำให้บ้านเย็นขึ้นในฤดูร้อน และสำหรับฤดูฝน ระบบ Active AIRflowTM System ก็มีส่วนช่วยสร้างสภาวะอยู่สบายในบ้านได้ด้วยเช่นกัน เพราะจะทำให้บ้านมีอากาศถ่ายเทตลอดเวลาแม้ว่าจะปิดบ้านไว้ทั้งวัน นอกจากจะช่วยให้บ้านไม่ร้อนอบอ้าวหรืออับชื้นแล้ว ยังช่วยลดการสะสมของเชื้อโรคและอากาศเสียภายใน เมื่อเปิดแอร์ก็จะช่วยให้ห้องเย็นได้เร็วขึ้น เป็นการช่วยประหยัดพลังงาน หรือประหยัดค่าไฟได้ในอีกทางหนึ่ง
ทั้ง 6 วิธีนี้ เป็นวิธีที่จะช่วยลดความร้อนให้กับบ้านหลังเดิมได้ เมื่อบ้านเย็นขึ้นเครื่องปรับอากาศก็จะทำงานน้อยลง ส่งผลให้ช่วยประหยัดค่าไฟไปในตัว ซึ่งเจ้าของบ้านสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมและงบประมาณที่มีได้เลย
6 วิธีช่วยลดปัญหาบ้านร้อนให้บ้านหลังเดิม ปัญหาบ้านร้อนจะผ่อนคลายลงได้ ด้วย 6 วิธีที่จะช่วยให้บ้านหลังเดิมเย็นขึ้น เจ้าของบ้านสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามงบประมาณ และความเหมาะสม