ซื้อสินค้า โทร.02-5110240 | 081-4563232

10 ช่องต้องปิด ป้องกันสัตว์เข้าบ้าน

10 ช่องต้องปิด ป้องกันสัตว์เข้าบ้าน

10 ช่องต้องปิด ป้องกันสัตว์เข้าบ้าน

10 ช่องต้องปิด ป้องกันสัตว์เข้าบ้าน รู้ทันช่องทางต่างๆ ที่สัตว์ไม่พึงประสงค์อาจหลุดลอดเข้ามารบกวนภายในบ้านไม่ว่าจะเป็น บริเวณหลังคา ฝ้าเพดาน ผนัง โพรงใต้บ้าน และระบบท่อระบายน้ำ พร้อมแนวทางป้องกันด้วยการปิดช่องว่างเหล่านี้ให้มิดชิด

เจ้าของบ้านหลายๆ ท่านอาจเคยพบปัญหาสารพันสัตว์นานาชนิดที่เข้ามาสร้างความรำคาญใจภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นจิ้งจก นก หนู แมลงสาบ หรือ งู เป็นต้น ซึ่งนำพาทั้งเชื้อโรคต่างๆ และยังเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยภายในบ้านของเราอีกด้วย

การแก้ปัญหาสัตว์เข้าบ้านด้วยวิธีการกำจัดนั้นอาจเป็นวิธีที่แลดูโหดร้าย ทารุณสัตว์ และรับไม่ได้สำหรับใครหลายๆ คน ดังนั้นวิธีการป้องกันสัตว์บุกรุกเข้าบ้านที่ดีเพื่อให้เจ้าของบ้านสามารถอยู่อาศัยอย่างสงบสุขโดยไม่เป็นการทำร้ายสัตว์ต่างๆ เราจำเป็นต้องทราบว่าบ้านของเรามีประตูหรือช่องว่างจุดไหนที่เชื้อเชิญแขกไม่ได้รับเชิญเหล่านี้เข้ามาภายในบ้านได้ เพื่อป้องกันได้อย่างถูกจุด โดยมีวิธีการตรวจสอบช่องว่างตามตำแหน่ง หลังคา ฝ้า ผนัง และพื้น ดังนี้ครับ

10 ช่องต้องปิด ป้องกันสัตว์เข้าบ้าน
ภาพ: ช่องว่างต่างๆ บริเวณหลังคา ที่เป็นจุดเสี่ยงให้สัตว์เล็กมุดเข้าไปได้

1. ครอบข้างหลังคา สำหรับหลังคาที่มีปั้นลม หรือหลังคาทรงจั่ว โดยปกติแล้วช่วงรอยต่อจะมีช่องว่างเล็กๆ ไม่แนบสนิท จึงควรติดตั้งแผ่นปิดครอบข้างเพื่อช่วยปิดช่องว่างที่มีอยู่ให้แนบสนิท ป้องกันสัตว์เล็กเข้ามาภายในหลังคาบ้าน

2. สันหลังคา บริเวณสันหลังคาเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีช่องว่างเช่นกัน เนื่องจากเป็นรอยต่อระหว่างผืนหลังคาทั้งสองด้าน ดังนั้นก่อนทำการติดตั้งครอบสันหลังคา ควรติดแผ่นปิดครอบเสียก่อนเพื่อช่วยปิดรอยต่อหรือช่องเล็กๆ ที่เกิดขึ้นตรงสันหลังคาได้

3. ตะเข้สัน เป็นส่วนที่กระเบื้องหลังคามาบรรจบกัน เกิดเป็นองศาสูงขึ้นมาเป็นสัน ปกติจะต้องมีการติดครอบสันตะเข้ด้วยเพื่อไม่ให้น้ำฝนรั่วซึมเข้ามาใต้หลังคาหรือซึมเข้ามาในบ้าน ทั้งนี้การติดครอบสันตะเข้ซึ่งเป็นวัสดุแยกอีกชิ้นหนึ่งที่เมื่อนำมาติดทับสันก็จะเกิดรอยต่อ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดช่องเล็กๆ ได้ แผ่นปิดครอบสันตะเข้ จะเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยปิดทับช่องว่างดังกล่าวได้

10 ช่องต้องปิด ป้องกันสัตว์เข้าบ้าน
ภาพ: อุปกรณ์กันสัตว์เข้าหลังคา ได้แก่ แผ่นปิดครอบข้างบริเวณปั้นลม (ซ้าย) และแผ่นปิดครอบสันหลังคากับครอบสันตะเข้ (ขวา)

4. ปลายสันตะเข้ ในส่วนของปลายสันตะเข้จะอยู่ที่บริเวณส่วนล่างสุดของหลังคา ต่อกับส่วนของชายคา ซึ่งบริเวณนี้จะมีช่องว่างเล็กๆ ที่เป็นรอยต่ออยู่ ถือเป็นจุดเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน การป้องกันก็คือการใช้แผ่นปิดปลายสันตะเข้มาช่วยได้ โดยจะปิดรอยต่อได้อย่างมิดชิด ไม่เกิดช่องเล็กๆ ระหว่างจุดที่เชื่อมต่อกับชายคา

10 ช่องต้องปิด ป้องกันสัตว์เข้าบ้าน
ภาพ: อุปกรณ์ปิดปลายสันตะเข้ ช่วยป้องกันสัตว์เข้าหลังคา

5. ช่องว่างระหว่างลอนกระเบื้องกับเชิงชาย ควรใช้แผ่นปิดเชิงชายหรือแผ่นปิดกันนก ซึ่งเป็นแผ่นอุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งเข้ากับเชิงชายเพื่อช่วยปิดช่องว่างของลอนหลังคา โดยสามารถเลือกใช้ได้ตามรุ่นหลังคาของเจ้าของบ้าน ป้องกันสิ่งมีชีวิตเข้าสู่ภายในบ้านได้เช่นกัน

10 ช่องต้องปิด ป้องกันสัตว์เข้าบ้าน
ภาพ: แผ่นปิดเชิงชาย (แผ่นปิดกันนก) ช่วยป้องกันสัตว์มุดเข้าหลังคาบริเวณช่องว่างระหว่างกระเบื้องกับเชิงชาย

6. ช่องว่างที่ฝ้าเพดาน ควรตรวจสอบฝ้าชายคาภายนอกให้แน่ใจว่าอยู่ในสภาพดี ไม่มีการชำรุด หรือหากเจ้าของบ้านท่านใดใช้ฝ้าชายคาชนิดที่มีช่องระบายอากาศควรทำการติดตาข่ายเพื่อป้องกันสัตว์หรือแมลงตัวเล็ก

10 ช่องต้องปิด ป้องกันสัตว์เข้าบ้าน
ภาพ: ตัวอย่างฝ้าชายคาระบายอากาศกันแมลง

7. ช่องว่างบริเวณผนัง ควรตรวจสอบผนังบ้านว่าไม่ชำรุด หรือมีรอยแยกแตกร้าวอันเป็นสาเหตุให้สัตว์เข้าไปในบ้านได้โดยเฉพาะรอยต่อระหว่างเสากับผนัง และรอยต่อระหว่างผนังกับวงกบประตูหน้าต่าง ซึ่งแนวทางแก้ไขหากเป็นรอยเล็กสามารถฉาบซ่อมแซมปิดช่องว่างได้ด้วยปูนโป๊วผนังหรืออาจเลือกใช้เป็นกาว PU ยาตามแนวรอยแตกร้าวก็ได้เช่นกัน กรณีเป็นรอยแยกขนาดใหญ่ เช่น รอยต่อ หรือรอยแตกขนาด 1.5 ซม. ขึ้นไป อาจใช้โฟม PU อุดปิดให้เรียบร้อย

10 ช่องต้องปิด ป้องกันสัตว์เข้าบ้าน
ภาพ: กาว PU สำหรับยาแนวรอยต่อรอยแตกร้าวขนาดเล็ก

8. ช่องว่างที่เกิดจากประตูหน้าต่างบานเลื่อน ช่องว่างของประตูหน้าต่างบานเลื่อนเป็นอีกจุดหนึ่งที่ควรสังเกตและป้องกัน เนื่องจากรูปแบบการทำงานแบบเลื่อนสไลด์ทำให้ตัวบานไม่แนบสนิท เกิดช่องว่างระหว่างตัวบานและรางเลื่อน กลายช่องทางสัญจรของสัตว์รบกวนขนาดเล็กได้ แนวทางป้องกัน ควรติดตั้งมุ้งลวดภายในซึ่งสามารถเลือกได้ทั้งแบบเปิดปิดหรือแบบรางเลื่อน หากเน้นการป้องกันสัตว์เข้าอย่างจริงจังอาจเลือกมุ้งลวดชนิดพิเศษ เช่น มุ้งลวดกันจิ้งจก หรือกรณีที่จะเปลี่ยนประตูหน้าต่างอยู่แล้วอาจเปลี่ยนมาใช้ประตูหน้าต่างแบบบานเปิดแทน จะช่วยป้องกันสัตว์/แมลงรบกวนได้มากขึ้น

10 ช่องต้องปิด ป้องกันสัตว์เข้าบ้าน
ภาพ: มุ้งลวดกันจิ้งจก สำหรับหน้าต่างบานเลื่อนที่เน้นป้องกันจิ้งจกเข้าโดยเฉพาะ

9. ช่องว่างที่เกิดจากการทรุดตัวของพื้นดินจนเกิดโพรงใต้บ้าน ปัญหาพื้นรอบบ้านทรุดตัวต่ำกว่าระดับคานบ้านจนทำให้เกิดโพรงใต้บ้านเป็นช่องโหว่นั้น แม้จะไม่อันตรายต่อโครงสร้างแต่ก็ดูไม่สวยงาม ทั้งยังอาจเป็นแหล่งหลบซ่อนของสัตว์ต่างๆ ที่สร้างความรำคาญและก่อให้เกิดอันตรายได้ด้วย ดังนั้น หากมีโพรงใต้บ้านเกิดขึ้น เจ้าของบ้านควรหาทางปิดให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายเข้าไปอาศัยอยู่ใต้บ้าน แนวทางแก้ไขทำได้ด้วยการปิดโพรง ซึ่งมีทั้งวิธีใช้บล็อคคอนกรีต การทำกำแพงกันดินปิดโพรง และการฉีดวัสดุเติมอุดโพรงจนเต็ม ซึ่งสามารถเลือกวิธีการให้เหมาะสมตามอัตราการทรุด และขนาดของช่องว่างจากการทรุดตัว

10 ช่องต้องปิด ป้องกันสัตว์เข้าบ้าน
ภาพ: (ซ้าย) การปิดโพรงใต้บ้านแบบชั่วคราวด้วยบล็อกคอนกรีตในรูปของขอบคันหิน พร้อมปลูกต้นไม้ตกแต่งสวยงาม และ (ขวา) การปิดโพรงใต้บ้านแบบถาวรด้วยแผ่นสมาร์ทบอร์ดชนิดหนาพิเศษ โดยยึดติดกับคานบ้านเพื่อความแข็งแรงทนทาน
10 ช่องต้องปิด ป้องกันสัตว์เข้าบ้าน
ภาพ: การปิดโพรงใต้บ้านแบบถาวร โดยใช้วัสดุเติมเข้าไปใต้โพรงจนเต็ม จากนั้นกลบดินและทรายปิดให้เรียบร้อย

10. ช่องว่างตามเส้นท่อของระบบน้ำทิ้ง เส้นท่อน้ำทิ้งภายในบ้านเป็นอีกช่องว่างหนึ่งที่เชื่อมต่อโดยตรงเข้าสู่ภายในตัวบ้าน จึงถือเป็นจุดหนึ่งที่หนู แมลงสาบ หรืองู สามารถบุกรุกผ่านช่องทางนี้ได้ ทั้งเข้าจากท่อน้ำทิ้ง เเละท่อโสโครก จนเป็นข่าวให้เราเห็นกันบ่อยๆ แนวทางแก้ไขคือ ใส่ตะแกรงที่มีขนาดช่องถี่ไว้ที่ปลายท่อน้ำทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลื้อยคลานเข้ามาได้ อาจใช้ผงกำมะถัน น้ำมันก๊าด โรยบริเวณท่อระบายน้ำ สารเคมีพวกนี้จะส่งกลิ่นฉุน ช่วยสกัดกั้นไม่ให้สัตว์ร้ายเข้ามาในบริเวณนั้นได้อีก และควรดูแลความสะอาดบริเวณบ้านให้ดี ไม่เป็นแหล่งอาหารที่จะเชื้อเชิญสัตว์ร้ายเข้าบ้านครับ


เรื่องโดย : ชัยศักดิ์ จรัสศรีวิศิษฐ์ จาก SCG Home Experience

ใส่ความเห็น

×
×

Cart