ซื้อสินค้า โทร.02-5110240 | 081-4563232

รีโนเวตบ้านเก่า 50 ปี ให้เป็นบ้านสไตล์โคโลเนียล

รีโนเวตบ้านเก่า 50 ปี ให้เป็นบ้านสไตล์โคโลเนียล

รีโนเวตบ้านเก่า 50 ปี ให้เป็นบ้านสไตล์โคโลเนียล

รีโนเวตบ้านเก่า 50 ปี ให้เป็นบ้านสไตล์โคโลเนียล ปรับปรุงบ้านเก่าที่มีอายุกว่า 50 ปี เปลี่ยนโฉมจากบ้านยุคเก่าหลังคาทรงเตี้ยให้สวยโดดเด่นแบบวินเทจในสไตล์โคโลเนียล

โคโลเนียลสไตล์ หลายคนน่าจะเคยได้ยินว่าเป็นสถาปัตยกรรมในยุคที่ทางตะวันตกขยายอำนาจหรือล่าอาณานิคม ส่งผลให้บ้านเรือนหรืออาคารได้รับอิทธิพลไปด้วย สถาปัตยกรรมจึงถูกผสมผสานระหว่างตะวันตกและพื้นถิ่นนั้นๆ ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับประเทศไทยเริ่มมีสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียลในสมัยรัชกาลที่ 5 จุดเด่นของงานอย่างประตูและหน้าต่าง ที่นิยมใช้ทรงโค้งรูปเกือกม้า ระเบียงกว้างและมีเสามารองรับชายคาแต่งเป็นซุ้มโค้งเรียงต่อกัน หลังคารูปทรงจั่วหรือปั้นหยา ตัวอาคารมักใช้โทนสีอ่อนพาสเทลอย่างสีขาวหรือสีครีมแล้วตัดขอบหรือเน้นเส้นสายด้วยสีเขียวหัวเป็ดหรือน้ำเงิน ตกแต่งด้วยพื้นหินอ่อนหรือกระเบื้องลายโบราณ

สำหรับบ้านสไตล์โคโลเนียลหลังนี้ มีเนื้อที่ 135 ตารางวา พื้นที่อาคาร 250 ตร.ม. เป็นการเปลี่ยนโฉมบ้านยุคเก่าหลังคาเพิงแหงนทรงเตี้ยที่มีอายุกว่า 50 ปี ให้ตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้านที่มีความชอบแนววินเทจ หลงใหลบ้านรุ่นเก่าสมัยเจ้าขุนมูลนายที่มีกลิ่นอายตะวันตก สะท้อนความเรียบง่ายแต่ประณีตด้วยการตกแต่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้นการตกแต่งหลายจุดเจ้าของบ้านจึงมีส่วนร่วมคิดกับสถาปนิกให้ลงตัวและออกมาในแบบที่ชอบ ภายนอกเปลี่ยนหน้าตาไปอย่างชัดเจนจนแทบจำบ้านหลังเดิมไม่ได้ อย่างการเปลี่ยนรูปทรงหลังคา เพิ่มระเบียงกว้างและเสารับหลังคาทรงจั่ว เปลี่ยนฟังก์ชันเดิมภายในที่มีการต่อเติมและกั้นห้องจนดูแคบมืดให้กว้างและโปร่งขึ้น การตกแต่งภายในบ้านรวมถึงสวนที่ยิ่งส่งเสริมให้บ้านดูโดดเด่นในสไตล์โคโลเนียลอย่างแท้จริง

ภาพ: Before & After ภายนอกบ้านเปลี่ยนโฉมบ้านยุคเก่าให้เป็นสไตล์โคโลเนียล
ภาพ: Before & After เปลี่ยนภายในบ้านเดิมมีการกั้นห้องจนดูแคบมืดให้กว้างและโปร่งขึ้น

แนวคิดในการออกแบบ

ด้วยความที่เจ้าของบ้านชอบงานอนุรักษ์ ชอบความคลาสสิกกลิ่นอายโคโลเนียล จึงให้โจทย์กับสถาปนิกไปเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบปรับปรุงบ้านหลังนี้ เมื่อสถาปนิกเข้ามาสำรวจบ้านเดิมพบว่า ด้วยความที่เป็นบ้านเก่าที่ถนนภายนอกสูงกว่าบริเวณบ้าน จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมหลังฝนตก ส่วนตัวเรือนยังแข็งแรง มีแค่ความสูงของฝ้าที่ค่อนข้างเตี้ย ดังนั้นสถาปนิกจึงแก้ปัญหาระบบการระบายน้ำร่วมกับวิศวกรควบคู่ไปกับการปรับปรุงบ้านให้สูงโปร่งขึ้นและดีไซน์ที่ตรงตามเจ้าของบ้านต้องการ

การออกแบบปรับปรุงบ้าน สถาปนิกเปลี่ยนรูปทรงบ้านเล็กน้อยเพื่อให้ดูโดดเด่นขึ้น โดยการเปลี่ยนเป็นหลังคาทรงจั่วหันหน้ารับหน้าบ้าน เพิ่มเสารับแนวระเบียงเดิมทอดยาวขึ้นไปถึงหลังคา เสา 4 ต้นถูกวางอย่างสมมาตร เผยให้เห็นซุ้มโค้ง 3 ช่วง รับกับสระบัวด้านหน้าดูสวยสะดุดตา ประตูและหน้าต่างชั้นบนปรับเป็นทรงโค้งรูปเกือกม้าเน้นบานกรอบและวงกบด้วยสีเขียวหัวเป็ด ฝ้าเพดานเหนือระเบียงดีไซน์เป็นฝ้าหลุมและเลือกใช้โคมไฟห้อยแบบโบราณ

ส่วนภายในมีปรับการพื้นที่ชั้นล่างใหม่ โดยรื้อผนังระหว่างห้องครัวที่ต่อเติมไว้กับห้องรับแขกออก เปลี่ยนเป็นซุ้มโค้งแบ่งสัดส่วนการใช้งานแทนการกั้นห้องเพื่อให้ภายในบ้านดูกว้างขึ้น และดีไซน์ช่องเปิดเกือบเต็มผนังในฝั่งหน้าบ้านและข้างบ้านที่เป็นต้นไม้ ช่วยเพิ่มความสว่าง ยิ่งทำให้บ้านโปร่งสบายตา ช่องเปิดชั้นล่างเลือกใช้บานเกล็ดไม้ช่วยในการกรองแสงแทนการติดผ่าม่าน ซึ่งเป็นดีไซน์ที่มาพร้อมกับชุดประตูหน้าต่าง ใช้งานง่าย ดูแลง่าย ที่สำคัญทำให้บ้านดูดีแนวคลาสสิกลงตัวยิ่งขึ้น

ชั้นบนยังคงตกแต่งตามสไตล์ของบ้าน ห้องนอนเน้นฝ้าหลุม ตกแต่งลวดลายเพิ่มความหรูหรา ห้องน้ำดีไซน์โบราณ ซุ้มโค้ง อ่างล้างมือ อ่างอาบน้ำ หรือแม้แต่โคมไฟ ที่ทำให้นึกถึงฉากหนังย้อนยุค

ภาพ: หลังคาทรงจั่วหันหน้ารับหน้าบ้าน เสารับระเบียง 4 ต้นถูกวางอย่างสมมาตร เผยให้เห็นซุ้มโค้ง 3 ช่วง รับกับสระบัว
ภาพ: หน้าต่างทรงโค้งรูปเกือกม้า
ภาพ: ดีไซน์ซุ้มโค้งกั้นระหว่างห้องครัวกับห้องรับแขก พื้นปูกระเบื้องลายโบราณ
ภาพ: บานเกล็ดไม้ช่วยในการกรองแสงแทนการติดผ่าม่าน ดีไซน์มาพร้อมกับชุดประตูหน้าต่าง
ภาพ: ฝ้าห้องนอนชั้นบนเป็นฝ้าหลุม และตกแต่งลวดลายฉลุโบราณ
ภาพ: ห้องน้ำที่ออกแบบได้เข้ากับบรรยากาศของบ้าน

การเลือกใช้วัสดุและการตกแต่ง

บ้านสไตล์โคโลเนียลหนีไม่พ้นการเลือกใช้สีอ่อนอย่างสีครีม สีงาช้าง ตัดกับเส้นสายของกรอบประตูหน้าต่างที่เป็นสีเขียวหัวเป็ด พื้นกระเบื้องลวดลายโบราณถูกนำมาใช้กับพื้นที่ชั้นล่างเป็นส่วนใหญ่ ตัดขอบด้วยกระเบื้องลายเรียบ เพื่อไม่ให้ลายตาจนเกินไป พื้นชั้นบนเป็นห้องนอนเป็นพื้นไม้ของเดิมคงความรู้สึกอบอุ่น

ภาพ: พื้นที่หน้าบ้านเลือกใช้กระเบื้องลวดลายโบราณ
ภาพ: กระเบื้องลายเรียบปูตัดขอบเป็นแนวกรอบสีเหลี่ยมตัดกับกระเบื้องลวดลายโบราณ

ฝ้าเพดานชายคาตั้งใจทำให้ดูเรียบง่าย จึงเลือกใช้ฝ้าแผ่นเรียบแบบที่มีรูระบายอากาศและมีมุ้งกันแมลงมาในตัว เพื่อช่วยระบายความร้อนที่สะสมใต้หลังคาและป้องกันแมลงต่างๆ มุดเข้าไปทำรัง

ภาพ: ฝ้าชายคาแผ่นเรียบแบบมีรูระบายอากาศ ช่วยระบายความร้อนที่สะสมใต้หลังคา

พื้นที่ด้านข้างที่ต่อเนื่องจากห้องรับแขกเพื่อเดินมายังสวน ต่อเติมหลังคากันสาดออกมาเพื่อให้สามารถออกมาใช้งานได้โดยไม่เปียกฝน เลือกใช้เป็นแผ่นโปร่งแสงสีขาวขุ่น เพื่อให้แสงสว่างส่องลงมาอย่างนวลตาไม่ดูมืดทึบ

ภาพ: แผ่นโปร่งแสงสีขาวขุ่น ให้แสงสว่างส่องลงมาอย่างนวลตา

สำหรับงานตกแต่งอื่นๆ ก็มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้บ้านยังคงสไตล์โคโลเนียล อย่างโคมไฟ พัดลม ที่เจ้าของบ้านไปเดินเลือกซื้อกับสถาปนิกเองตามแหล่งขายของโบราณต่างๆ เฟอร์นิเจอร์บางชิ้นที่ตกทอดมาจากบ้านหลังเดิมและเจ้าของบ้านยังคงเก็บไว้อย่างชุดโซฟาไม้หน้าบ้าน หรือแม้แต่การตกแต่งสวน สระน้ำ ที่ยิ่งช่วยส่งให้บ้านหลังนี้สวยคลาสสิกมากขึ้น

ภาพ: พัดลมแขวนแนววินเทจตกแต่งในพื้นที่หน้าบ้าน
ภาพ: โคมไฟโบราณหลากหลายแบบ

บ้านสไตล์โคโลเนียลหลังนี้ตอบโจทย์เจ้าของบ้านอย่างมาก อาจเพราะด้วยความหลงใหลแนววินเทจจึงทำให้เจ้าของบ้านเองใส่ใจในทุกรายละเอียดของการออกแบบ รวมถึงได้สถาปนิกที่มีความชอบตรงกันและถนัดในการออกแบบสไตล์นี้จึงช่วยให้การรีโนเวตบ้านเก่าที่ยังคงโครงสร้างและพื้นที่ใช้งานเท่าเดิมนั้น ถูกเปลี่ยนโฉมใหม่ไปอย่างสิ้นเชิงจนสวยคลาสสิกถูกใจเจ้าของบ้านจำบ้านหลังเดิมแทบไม่ได้

ขอขอบคุณ
เจ้าของบ้าน: คุณดนุชา วีระพงษ์
สถาปนิก: คุณอลงกรณ์ ชาไชย และ คุณเชษฐพรรณ สินเจิมสิริ
Design Connext คอมมูนิตี้แหล่งรวมสถาปนิก/นักออกแบบ ที่ช่วยเชื่อมต่อทุกองศาของงานออกแบบ

โพสต์นี้มีความคิดเห็นเดียว

  1. รีโนเวตบ้านเก่า 50 ปี ให้เป็นบ้านสไตล์โคโลเนียล ปรับปรุงบ้านเก่าที่มีอายุกว่า 50 ปี เปลี่ยนโฉมจากบ้านยุคเก่าหลังคาทรงเตี้ยให้สวยโดดเด่นแบบวินเทจในสไตล์โคโลเนียล

ใส่ความเห็น

×