ซื้อสินค้า โทร.02-5110240 | 081-4563232

ออกแบบบ้านโมเดิร์นให้อยู่สบายในเมืองร้อน

ออกแบบบ้านโมเดิร์นให้อยู่สบายในเมืองร้อน

ออกแบบบ้านโมเดิร์นให้อยู่สบายในเมืองร้อน

ออกแบบบ้านโมเดิร์นให้อยู่สบายในเมืองร้อน บ้านสไตล์โมเดิร์นมีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่ไม่เอื้อกับสภาพอากาศบ้านเรานัก จึงควรให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบโดยคำนึงถึงหลักการต่าง ๆ ที่จะช่วยลดความร้อนในบ้าน

เอกลักษณ์เฉพาะตัวของบ้านสไตล์โมเดิร์นคือความเรียบง่าย เน้นการใช้พื้นที่ รูปทรงเรขาคณิต เส้นสายที่มีความชัดเจน ไม่ซับซ้อน อาจมีการแสดงความท้าทายของโครงสร้างเสาคาน หรือระยะยื่นยาวของคานหรือพื้นที่ไม่มีเสาค้ำเพื่อให้ดูน่าสนใจมากขึ้น นิยมใช้กระจกบานใหญ่เพื่อให้บ้านดูโปร่งและเบา ด้วยลักษณะดังที่กล่าวมาทำให้หลายคนเรียกบ้านสไตล์นี้ว่าบ้านกล่อง

ลักษณะของบ้านโมเดิร์นที่ไม่เอื้อกับอากาศร้อน

รูปแบบหลังคาของบ้านสไตล์นี้มักจะมีความเรียบแบน บาง หรือมีองศาหลังคาค่อนข้างต่ำ โดยเป็น Concrete Slab หลังคาดาดฟ้า หลังคาทรงเพิงแหงน หรือทำหลังคาซ่อนที่เรียกว่า Parapet หากออกแบบตามสไตล์ดั้งเดิมอย่างในประเทศเมืองหนาวที่นิยมทำหลังคาดาดฟ้าคอนกรีต เมื่อรับแสงแดดโดยตรงจะไม่มีพื้นที่กักความร้อนและระบายออกไปก่อน ความร้อนจึงผ่านเข้ามาในบ้านได้ง่าย ทำให้พื้นที่หรือห้องใต้หลังคาดาดฟ้านั้นร้อนมาก ต่างจากหลังคาทรงจั่วหรือปั้นหยาของบ้านไทยที่มีโถงใต้หลังคา และมีการระบายความร้อนออกที่ชายคาหรือหน้าจั่ว

นอกจากนี้ ด้วยความที่เป็นบ้านกล่อง จึงมักไม่มีชายคายื่นออกมาหรืออาจมีแต่อยู่เหนือช่องเปิดสูงเกินไป หรือยื่นไม่มาก ทำให้แดดสาดส่องเข้ามาในตัวบ้านได้

ผนังกระจก หรือช่องเปิดกระจกขนาดใหญ่ เป็นดีไซน์ที่บ้านสไตล์โมเดิร์นนิยม เพราะช่วยให้บ้านดูโปร่ง ลดทอนความแข็งและทึบตัน แต่ก็รับความร้อนได้ดีเช่นกัน

ภาพ: บ้านกล่องที่มีหลังคาเรียบแบน บาง และยื่นชายคาน้อย

ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน การออกแบบบ้านสไตล์โมเดิร์นที่มีรูปทรงกล่องจึงท้าทาย วิธีการป้องกันแดดและความร้อนสะสมภายในบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยอยู่ในสภาวะน่าสบายมากที่สุด ซึ่งพอจะสรุปแนวทางได้ดังนี้

1. จัดวางอาคารตามทิศทางแดดลม

โดยปกติแล้วผู้ออกแบบหรือสถาปนิกมักออกแบบบ้านโดยวางแนวอาคารตามทิศทางของแดดลมอยู่แล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับการรับแสงธรรมชาติเป็นประโยชน์ด้านการรับร่มเงาอาคารหรือการใช้แสงแดดอย่างเหมาะสม และการรับลมธรรมชาติก็ช่วยทำให้บ้านเย็นช่วยลดการสะสมความร้อน

ส่วนทิศทางลมของประเทศไทยจะพัดผ่านในแนวทิศตะวันตกเฉียงใต้กับทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นการจัดวางห้องในแนวทิศทางนี้ควรออกแบบให้มีช่องเปิดเพื่อรับลม โดยไม่มีผนังกั้นหรือไม่จัดวางสิ่งใดขวางทางลม บางครั้งผู้ออกแบบจะเลือกวางตำแหน่งสระน้ำ บ่อน้ำธรรมชาติ หรือสระว่ายน้ำในทิศนี้เพื่อให้ลมพัดเอาไอเย็นจากน้ำเข้าบ้านทำให้ภายในบ้านเย็นขึ้น

ภาพ: ตัวอย่างการออกแบบผังอาคารและพื้นที่กิจกรรมต่าง ๆ โดยคำนึงถึงทิศทางของแดด ขอบคุณภาพ: ID Architect
ภาพ: จัดวางตำแหน่งสระว่ายน้ำในทิศตะวันตกเฉียงใต้หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อให้ลมพัดพาความเย็นจากไอน้ำเข้าบ้าน

2. ลดร้อนให้บ้าน

แนวทางหลักของการลดร้อนให้บ้านโมเดิร์นคือการเลือกใช้วัสดุที่อมความร้อนต่ำ ฉนวนกันความร้อน และอีกวิธีคืออาศัยการออกแบบเข้าช่วย โดยยังคงหลักการป้องกันความร้อน และการระบายอากาศร้อนออกจากบ้านก่อนที่จะผ่านเข้ามาในบ้านให้มากที่สุด

    • ลดร้อนที่หลังคา

หากเป็นหลังคาดาดฟ้าคอนกรีต สามารถลดร้อนที่หลังคาด้วยการทาสีกันซึมดาดฟ้าที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อน หรือติดตั้งกระเบื้องปูพื้นดาดฟ้า เพื่อไม่ให้ความร้อนโดนพื้นผิวดาดฟ้าโดยตรงและมีช่องว่างให้อากาศได้หมุนเวียนและระบายความร้อนได้ นอกจากนี้ หากสามารถออกแบบใช้งานพื้นที่หลังคาให้เป็นสวนดาดฟ้า หรือทำหลังคาคลุมพื้นที่ดาดฟ้าให้เข้ากับสไตล์บ้าน ก็เป็นอีกแนวทางที่ช่วยลดร้อนให้กับหลังคาดาดฟ้าได้เป็นอย่างดี

ภาพ: (ซ้าย)ทาสีกันซึมดาดฟ้าสะท้อนความร้อน, (ขวา) ติดตั้งกระเบื้องปูพื้นดาดฟ้า
ภาพ: พื้นที่นั่งเล่นพักผ่อนที่มีหลังคาคลุมพื้นที่ดาดฟ้าเข้ากับสไตล์บ้าน

หากเป็นหลังคาเพิงแหงนที่มักใช้วัสดุมุงหลังคาเป็นเมทัลชีท ควรเลือกรุ่นที่บุฉนวนกันความร้อนมาด้วย เพราะสามารถป้องกันได้ทั้งความร้อนและเสียงควบคู่กัน

ภาพ: (ซ้าย)ระบบหลังคาเมทัลรูฟ เอสซีจี รุ่นคอมฟอร์ท ลอน Snap Lock, (ขวา)หลังคาเมทัลรูฟ

ทั้งนี้ หากมีพื้นที่โถงหลังคาที่มีระยะเหนือฝ้าเพดานมากกว่า 1 เมตร ควรติดตั้งฉนวนกันความร้อนเหนือฝ้าเพดานอีกชั้นหนึ่ง รวมถึงทำช่องทางระบายอากาศเพิ่มเติม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความร้อนที่จะผ่านลงมาในบ้านให้ดียิ่งขึ้น

ภาพ: ติดตั้งฉนวนกันความร้อน Stay Cool เหนือฝ้าเพดาน
    • ลดร้อนที่ผนัง

ควรเลือกใช้วัสดุผนังที่อมความร้อนน้อยอย่างอิฐมวลเบา หรือหากเป็นผนังด้านที่รับแดดตลอดทั้งวันจนเกิดความร้อนสะสมมาก อาจติดตั้งฉนวนกันความร้อนในผนังร่วมด้วย เพื่อช่วยเพิ่มค่าความต้านทานความร้อนมากยิ่งขึ้น หรือออกแบบผนังซ้อนอีกชั้นเป็น Facade หรือ Double Skin ก็ได้

ภาพ: ติดตั้งฉนวนกันความร้อน Stay Cool รุ่น Cool Wall พร้อมระบบผนังโครงเบาช่วยเพิ่มค่าความต้านทานความร้อน
ภาพ: ทำผนัง 2 ชั้นด้านทิศตะวันตก เพื่อลดการปะทะความร้อนจากแสงแดดโดยตรงที่ผนังด้านใน

3. การเพิ่มร่มเงาให้ผนังและช่องเปิด

หากเราสามารถเพิ่มร่มเงาให้กับบ้านได้ ป้องกันแสงแดดส่องโดยตรง เสมือนเวลาเราอยู่ในร่มต้นไม้กลางแจ้ง เป็นอีกแนวทางที่ช่วยป้องกันความร้อน ช่วยดูแลรักษาบ้าน ยืดอายุการใช้งานให้บ้านสวยทนด้วย

    • การยื่นชายคา ระเบียง หรือส่วนประกอบต่าง ๆ

บ้านกล่องที่มีหลังคาควรออกแบบให้มีชายคายื่นยาว ส่วนบ้านโมเดิร์นก็สามารถออกแบบระเบียงหรือกันสาด รวมถึงองค์ประกอบของบ้านให้ยื่นหนากว่าแนวผนังบ้าน เพื่อช่วยสร้างร่มเงาและกันแดดที่สาดเข้ามาภายในบ้าน ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันความร้อนที่จะปะทะเข้ามาโดยตรงแล้ว ยังช่วยทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบายตาเมื่อมองออกไปภายนอก เพราะไม่เห็นแสงแดดที่จ้าเกินไป

ภาพ: ชายคาบ้านยื่นยาวและการยื่นกรอบอาคารให้หนาช่วยเพิ่มร่มเงา ลดแสงแดดสาดเข้าบ้าน
ภาพ: ออกแบบระเบียงหรือกันสาดยิ่งกว้างยิ่งช่วยกันแดดได้มากขึ้น
    • การทำแผงกันแดด ระแนงกรองแสง

อีกวิธีที่ช่วยลดแสงแดดส่องและลดการสะสมความร้อนที่ผนัง คือการออกแบบระแนงกรองแสงเพื่อช่วยกันแดดที่ส่องผนังหรือช่องเปิดโดยตรง อาจมีเป็นบางส่วน หรือออกแบบเป็นลักษณะ Facade ตามสไตล์บ้านก็ได้ ภายในบ้านจะยังดูโปร่งมองเห็นภายนอกได้ ไม่ทำให้รู้สึกมืดทึบเกินไป แต่ช่วยพรางตาสร้างความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

ภาพ: ติดตั้งระแนงไม้ในทิศตะวันตก ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศใต้ เพื่อช่วยกรองแสงที่ช่องเปิด และลดการสะสมความร้อนที่ผนัง
ภาพ: ระแนงช่วยกรองแสงเข้ามาในห้องและสร้างความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

4. พื้นที่สีเขียวรอบบ้าน

แนวทางพื้นฐานสำหรับบ้านในเมืองร้อนหากมีพื้นที่รอบบ้านเพียงพอ คือการปลูกต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะทางทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อให้ร่มเงากับบ้าน สวนพื้นภายนอกบ้านควรลดการใช้วัสดุที่อมความร้อนอย่างพื้นปูน เพราะอมความร้อนได้ดีและแผ่ความร้อนเข้าบ้านด้วย ควรเป็นพื้นสนามหญ้า พืชคลุมดิน หรือปลูกหญ้าสลับกับแผ่นหิน แผ่นทางเดินในสวน และหากมีพื้นที่มากพออาจทำสระน้ำ บ่อปลา หรือสระว่ายน้ำ ก็ยิ่งช่วยให้บ้านเย็นขึ้นได้

ภาพ: เพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบบ้าน ปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา

สำหรับบ้านสไตล์โมเดิร์นที่กำลังประสบปัญหาความร้อนอยู่ เช่น บ้านจัดสรร บ้านสำเร็จรูปที่ไม่ได้ถูกออกแบบตามที่ดิน ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการติดตั้งระบบหรืออุปกรณ์ช่วยลดความร้อนเพิ่มเติม เช่น การติดฟิล์มกรองแสงให้กับกระจกช่องประตูหน้าต่าง การติดผ้าม่านหรือมู่ลี่ การติดตั้งฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาเพื่อป้องกันความร้อนจากหลังคาลงสู่บ้าน การติดตั้งหลังคาหรือกันสาดเหนือประตู-หน้าต่าง การติดตั้งระแนงบังแดด ฯลฯ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความสวยงาม โดยอาจปรึกษาสถาปนิกหรือผู้เชี่ยวชาญถึงแนวทางการแก้ไขและออกแบบที่เข้ากับสไตล์บ้านต่อไป

ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com

โพสต์นี้มีความคิดเห็นเดียว

  1. ออกแบบบ้านโมเดิร์นให้อยู่สบายในเมืองร้อน บ้านสไตล์โมเดิร์นมีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่ไม่เอื้อกับสภาพอากาศบ้านเรานัก จึงควรให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบโดยคำนึงถึงหลักการต่าง ๆ ที่จะช่วยลดความร้อนในบ้าน

ใส่ความเห็น

ประกาศวันหยุดให้บริการ ในวันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2567
เนื่องใน วันพ่อแห่งชาติ
เปิดให้บริการปกติในวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567 ขออภัยในความไม่สะดวก
×