ซื้อสินค้า โทร.02-5110240 | 081-4563232

ลงเสาเข็มต่อเติมครัวอย่างไรไม่ให้ครัวทรุด

ลงเสาเข็มต่อเติมครัวอย่างไรไม่ให้ครัวทรุด

ลงเสาเข็มต่อเติมครัวอย่างไรไม่ให้ครัวทรุด

ยกปัญหายอดฮิตอย่างต่อเติมครัวไปแล้วครัวทรุด มาเจาะประเด็นเรื่องเสาเข็มให้เข้าใจถึงสาเหตุ และแนะนำทางออกในการเลือกใช้เสาเข็มต่อเติมครัวที่เหมาะสม

หลายบ้านที่เคยทำการต่อเติมครัวไว้ คงจะรู้ดีถึงปัญหาครัวทรุดอันน่ากลุ้มใจ เพราะนอกจากจะเกิดรอยแตกร้าวที่ไม่สวยงามแล้ว เวลาฝนตก น้ำยังรั่วซึมตามรอยแตกร้าวนั้นด้วย ว่ากันตรงๆ แล้ว สาเหตุที่ครัวทรุดเร็วกว่าตัวบ้าน ก็เป็นเพราะเราลงเสาเข็มต่อเติมครัวสั้นกว่าเสาเข็มของตัวบ้านนั่นเอง

เสาเข็มต่อเติมครัว ยิ่งสั้นยิ่งทรุดเร็ว

เสาเข็มทำหน้าที่รับน้ำหนักบ้านทั้งหลังโดยอาศัยดินเป็นตัวช่วย ดังนั้นการสร้างบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเราจึงมีการลงเสาเข็ม (ยกเว้นบางพื้นที่ซึ่งมีดินแข็งอยู่ชั้นบน เช่น พื้นที่ใกล้ภูเขา อาจไม่จำเป็นต้องลงเสาเข็ม) และเนื่องจากผิวดินชั้นบนเป็นชั้นดินอ่อน จึงทำให้ต้องลงเสาเข็มลึกไปจนถึงชั้นดินแข็ง (ประมาณ 17-23 ม.) เพื่อไม่ให้บ้านทรุดตัว

ทีนี้เวลาต่อเติมครัวแบบประหยัดงบหรือมีพื้นที่จำกัด ส่วนใหญ่เรามักใช้เสาเข็มสั้นที่ความยาวไม่เกิน 6 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ห่างไกลมากจากชั้นดินแข็ง เสาเข็มสั้นที่รับน้ำหนักครัวส่วนต่อเติมของเราจะอยู่แค่ในชั้นดินอ่อน จึงทำหน้าที่ได้เพียงแค่ชะลอการทรุดตัวเท่านั้น ครัวที่เราต่อเติมจึงมีโอกาสทรุดตัวลงเรื่อยๆ จะเร็วหรือช้า มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับลักษณะดินในแต่ละพื้นที่ แต่ยังไงก็เร็วกว่าตัวบ้านที่มีเสาเข็มลึกยาวถึงชั้นดินแข็งแน่นอน

ภาพ: เสาเข็มต่อเติมครัว เป็นเสาเข็มสั้น ฝังอยู่ในขั้นดินอ่อน ทำให้ครัวทรุดเร็วกว่าตัวบ้าน

ไม่อยากให้ครัวทรุด ต้องลงเสาเข็มต่อเติมครัวลึกเท่าตัวบ้าน

เมื่อบ้านลงเสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็ง พอเราต่อเติมครัวโดยลงเสาเข็มลึกเท่าตัวบ้าน ย่อมแปลว่าเสาเข็มเรามีชั้นดินแข็งช่วยรับน้ำหนัก ดังนั้นครัวต่อเติมของเราก็จะไม่ทรุดเร็วกว่าตัวบ้าน ทั้งนี้ การลงเสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็งในงานต่อเติมที่นิยมในปัจจุบันจะมี 2 ทางเลือก คือ “เสาเข็มเจาะ” กับ ”เสาเข็มไมโครไพล์”

ภาพ: เสาเข็มต่อเติมครัวลงลึกถึงชั้นดินแข็ง ทำให้อัตราการทรุดของครัวต่อเติม และตัวบ้านใกล้เคียงกัน

เสาเข็มต่อเติมครัว “เสาเข็มเจาะ” VS “เสาเข็มไมโครไพล์”

  • เสาเข็มเจาะ หลักการคือ ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า สามขา หรือสามเกลอ ในการเจาะขุดดินใช้เป็นทรงกระบอกลึกตามขนาดและความยาวของเสาเข็ม โดยเจาะลึกให้ถึงชั้นดินแข็ง จากนั้นจึงใส่เหล็กเสริมแล้วเทคอนกรีตลงไป ทั้งนี้ เครื่องมือที่ใช้เจาะขุดดินจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ (ขนาดพื้นที่หน้างานต้องไม่ต่ำกว่า 5×6 เมตร โดยห้ามมีสิ่งกีดขวางที่ระยะความสูง 5 เมตร และตำแหน่งเสาเข็มต้องไม่อยู่ในจุดมุมของพื้นที่สี่เหลี่ยม) หากพื้นที่ต่อเติมค่อนข้างจำกัดอาจเข้าไปทำงานไม่ได้ นอกจากนี้ ในการขุดเจาะเสาเข็มจะต้องจัดการกับดินที่ขุดขึ้นมาให้ดี เพื่อไม่ให้เลอะเทอะ และต้องหาที่ทิ้งให้เรียบร้อย
ภาพ: การใช้สามขาขุดดินเพื่อติดตั้งเสาเข็มเจาะ
ภาพ: การใส่เหล็กเสริม (ซ้าย) และเทคอนกรีตหล่อเสาเข็มเจาะ (ขวา)

เสาเข็มไมโครไพล์ (Micropile) เป็นเสาเข็มคอนกรีตท่อนสั้นๆ ขนาดยาว 1.5 เมตร นำมาตอกลงดินต่อกันทีละท่อนโดยมีการเชื่อมเหล็กบริเวณหัวท้ายของเสาเข็ม มีให้เลือกทั้งแบบ “หน้าตัดรูปตัวไอ” ซึ่งเป็นเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง กับอีกแบบคือ “หน้าตัดกลม” หรือที่เรียกว่า สปันไมโครไพล์ (Spun Micropile) ผลิตโดยการปั่นคอนกรีตด้วยความเร็วสูงจึงแข็งแรงกว่าแบบหน้าตัดรูปตัวไอ (และราคาสูงกว่าด้วย) เครื่องมือที่ใช้ตอกเสาเข็มไมโครไพล์จะมีขนาดเล็กกว่าเครื่องตอกเสาเข็มเจาะมาก เสียงขณะตอกดังน้อยกว่าเสาเข็มเจาะ (ในขณะที่แรงสั่นสะเทือนใกล้เคียงกัน) และดินที่ไหลออกมาจากการตอกจะมีน้อย ไม่ค่อยเลอะเทอะ จึงตอบโจทย์สำหรับพื้นที่คับแคบได้ดีกว่าเสาเข็มเจาะมาก แต่ราคาก็สูงกว่าด้วยเช่นกัน

ภาพ: เสาเข็มไมโครไพล์ แบบหน้าตัดกลม (Spun Micropile) และหน้าตัดรูปตัวไอ) สังเกตที่หัวท้ายเสาเข็มจะมีแผ่นเหล็กเพื่อใช้เชื่อมต่อกันระหว่างเสาเข็มแต่ละต้น

ในเรื่องระยะเวลาติดตั้ง ก็มีข้อดีอีกอย่างของเสาเข็มไมโครไพล์ เพราะใน 1 วันสามารถลงเสาเข็มได้ประมาณ 3 ต้น (ขณะที่การทำเสาเข็มเจาะจะลงได้ประมาณ 2 ต้นต่อวัน ยังไม่รวมเวลาคอนกรีตเซตตัวอีก 48 ชม. ก่อนจะตัดหัวเข็มได้) ทั้งนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าตำแหน่งเหล็กเชื่อมที่ปลายเสาเข็มไมโครไพล์ จะมีปัญหาเรื่องสนิมในระยะยาวหรือไม่นั้น โดยหลักแล้วสนิมที่เหล็กจะเกิดได้ต่อเมื่อมีองค์ประกอบสำคัญคือ น้ำและออกซิเจน ในชั้นดินที่เสาเข็มฝังอยู่นั้นมีแต่น้ำอย่างเดียวไม่มีออกซิเจน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องสนิม

ภาพ: (ซ้าย) เครื่องมือตอกเสาเข็มไมโครไพล์ซึ่งมีขนาดเล็ก เหมาะกับพื้นที่ขนาดจำกัด และ (ขวา) การเชื่อมเหล็กเพื่อต่อเสาเข็มไมโครไพล์

ภาพ: (ซ้าย) เครื่องมือตอกเสาเข็มไมโครไพล์ซึ่งมีขนาดเล็ก เหมาะกับพื้นที่ขนาดจำกัด และ (ขวา) การเชื่อมเหล็กเพื่อต่อเสาเข็มไมโครไพล์

กล่าวโดยสรุปคือ ถ้าจะต่อเติมครัวแบบไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องปัญหาครัวทรุด คงหนีไม่พ้นที่จะต้องลงเสาเข็มต่อเติมครัวให้ลึกเท่าตัวบ้าน (ลึกถึงชั้นดินแข็ง) โดยใช้เสาเข็มเจาะหรือเสาเข็มไมโครไพล์ ในทางปฏิบัติถ้าเป็นบ้านในเมืองส่วนใหญ่โดยเฉพาะโครงการหมู่บ้านจัดสรร พื้นที่ต่อเติมครัวมักมีขนาดเล็กจนต้องเลือกใช้เสาเข็มไมโครไพล์ซึ่งตอบโจทย์งานต่อเติมในพื้นที่แคบได้ดี แม้จะราคาสูง แต่หากเจ้าของบ้านมองว่าในระยะยาวจะช่วยลดปัญหาครัวต่อเติมทรุดได้มาก ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดูคุ้มค่า

ก่อนจากกันไปขอฝากอีกเรื่องสำคัญคือ ในการต่อเติมทุกครั้งควรแยกโครงสร้างส่วนต่อเติมต่างหากกับตัวบ้าน ไม่ควรเชื่อมส่วนต่อเติมเข้ากับบ้านเดิม เพราะโครงสร้างของบ้านถูกออกแบบไว้เพื่อรับน้ำหนักตัวบ้านเท่านั้น แม้ส่วนต่อเติมจะลงเสาเข็มลึกเท่ากับบ้าน แต่ก็มีโอกาสทรุดตัวต่างกันได้แม้จะน้อยมากก็ตาม นอกจากนี้ ควรปรึกษาวิศวกรเพื่อให้ออกแบบโครงสร้างส่วนต่อเติมให้เหมาะสมและอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย

ใส่ความเห็น

×
×

Cart