ถังบำบัดน้ำเสียทำงานอย่างไร
ถังบำบัดน้ำเสียทำงานอย่างไร การทำงานของถังบำบัดน้ำเสีย มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ถังบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ และ ถังบำบัดน้ำเสียแบบไม่เติมอากาศ ซึ่งมีความแตกต่างกัน วัสดุของถังบำบัดน้ำเสีย รวมถึงการเลือกใช้ถังบำบัดน้ำเสีย
ถังบำบัดน้ำเสียทำงานอย่างไร
การติดตั้งถังบำบัดน้ำเสียในที่พักอาศัยเป็นสิ่งสำคัญเพื่อช่วยกรองของเสียและสิ่งปนเปื้อนที่มีอยู่ในน้ำทิ้งให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะทำการปล่อยลงสู่ระบบสาธารณะ ในอดีตการบำบัดน้ำเสียจากโถสุขภัณฑ์ที่เรารู้จักกันดีก็คือ บ่อเกรอะบ่อซึม เป็นการนำถังคอนกรีตสำเร็จรูปทรงกระบอก มาต่อกันและฝังไว้ในดิน จำนวน 2 บ่อ
บ่อที่ 1 เรียกว่าบ่อเกรอะ (Septic Tank) ทำหน้าที่รับของเสียจากภายในบ้านโดยตรง และกักน้ำเสียไว้ระยะหนึ่ง (ประมาณ 1-3 วัน) เพื่อให้ของแข็งที่ปะปนมากับน้ำเสียตกตะกอนลงด้านล่าง ซึ่งเป็นการแยกกากและยังเป็นการปรับสภาพน้ำเสียโดยการย่อยสลายตามธรรมชาติ ทั้งนี้ ควรทำการสูบกากของเสียและตะกอนทิ้งเพื่อทำความสะอาด ทุกๆ 3-5 ปี
บ่อที่ 2 เรียกว่าบ่อซึม (Seepage Pit) น้ำเสียที่แยกกากเรียบร้อยแล้วจากบ่อที่ 1 จะถูกส่งต่อมายังบ่อนี้ จากนั้นน้ำจึงซึมออกไปตามดินโดยรอบ โดยผนังของบ่อซึมจะทำด้วยวัสดุพรุน (Porous Materials) หรือ ใช้ท่อคอนกรีตเจาะรูเพื่อให้น้ำค่อยๆ ซึมออกสู่ชั้นดินรอบบ่อ จึงไม่เหมาะกับบริเวณลุ่มน้ำท่วมถึง หรือที่ที่ระดับน้ำใต้ดินสูง เนื่องจากน้ำเสียจะไม่สามารถระบายออกได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาส้วมเต็มในอนาคต นอกจากนี้ ตำแหน่งที่ตั้งควรอยู่บริเวณที่ห่างไกลจากแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค เพื่อสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัยแถวนั้นด้วย
ซึ่งในปัจจุบันเมืองถูกพัฒนาด้านสาธารณูปโภคอุปโภค ทำให้มีระบบท่อน้ำสาธารณะที่มีมาตรฐาน ไม่ต้องปล่อยของเสียให้ซึมลงดิน โดยเฉพาะในเมืองที่ชุมชนมากขึ้นพื้นที่ในการก่อสร้างบ้านเริ่มมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นปัจจัยต่างๆ ที่เป็นจุดด้อยของบ่อเกรอะบ่อซึมจึงถูกเต็มเติมและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำ จึงมีการคิดค้นถังบำบัดน้ำเสียเพื่อมาทดแทนระบบบ่อเกรอะ-บ่อซึม
ประเภทของถังบำบัดน้ำเสีย
ถังบำบัดน้ำเสียเป็นถังสำเร็จรูปที่รวมบ่อซึมบ่อเกรอะเข้าไว้ด้วยกัน ใช้สำหรับบรรจุของเสียที่เราขับถ่ายอย่างอุจจาระหรือปัสสาวะ และตกตะกอนอยู่ก้นถังที่เต็มไปด้วยจุลินทรีย์คอยย่อยสลาย ทำให้ไม่มีกลิ่นและไม่มีตะกอนตกค้างในถัง ส่วนน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว ก็ปล่อยสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะได้ ถังบำบัดน้ำเสียมี 2 ประเภท ได้แก่ “ถังบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ” และ “ถังบำบัดน้ำเสียแบบไม่เติมอากาศ”
๐ ถังบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ
ถังบำบัดน้ำเสียที่มีการติดตั้งระบบปั๊มอากาศ เพื่อช่วยเติมอากาศเข้าไปภายในตัวถัง และช่วยเพิ่มออกซิเจนให้เชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ภายใน สามารถนำไปใช้ในการย่อยสลายสิ่งสกปรกหรือสิ่งปฏิกูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้น้ำมีค่า BOD** น้อยลง กลิ่นเหม็นก็น้องลงไปด้วย
**ค่า BOD (Biochemical Oxygen Demand) เป็นค่าวัดคุณภาพของน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ ถ้า BOD ต่ำหมายถึงน้ำที่ต้องการออกซิเจนในการย่อยสลายอินทรีย์น้อยจึงไม่มีผลกระทบต่อแหล่งน้ำ แต่ถ้าค่า BOD สูงจะเป็นน้ำเสียนั่นเอง
๐ ถังบำบัดน้ำเสียแบบไม่เติมอากาศ
พัฒนามาจากบ่อเกรอะ โดยทำให้เกิดการย่อยสลายเพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มจำนวนแบคทีเรีย ใช้สื่อชีวภาพมาเป็นตัวกลางให้แบคทีเรียเกาะ ยิ่งมีพื้นที่ผิวมาก จำนวนแบคทีเรียก็จะยิ่งมากขึ้น ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียดีขึ้นเช่นกัน เหมาะสำหรับบ้านพักอาศัย เนื่องจากดูแลรักษาง่ายและประหยัดค่าไฟฟ้า แต่ประสิทธิภาพในการย่อยสลายของเสียน้อยกว่าถังบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ จึงอาจย่อยกากของเสียไม่ทัน ทำให้เกิดก๊าซมีกลิ่นเหม็น สามารถแก้ไขด้วยการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์เติมลงไปในถัง
การเลือกถังบำบัดน้ำเสีย
การพิจารณาเลือกถังบำบัดน้ำเสียเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานมีความสำคัญมากเพราะส่งผลต่อการใช้ชีวิตในที่พักอาศัยหรืออาคาร เช่น การส่งกลิ่นเหม็น การกดชักโครกไม่ลง ฯลฯ ควรพิจารณา 2 เรื่อง ดังนี้
๐ วัสดุของถังบำบัดน้ำเสีย ที่นิยมใช้มี 2 ชนิด คือ (1)ถังบำบัดน้ำเสียพลาสติก เป็นโพลีเอทิลีนคุณภาพสูง (Polyethylene : PE) มีความแข็งแรง ทนทานความเป็นกรด-ด่างสูง รองรับน้ำหนักได้มาก และ (2)ถังบำบัดน้ำเสียไฟเบอร์กลาส เป็นพลาสติกเรซิ่นเสริมเส้นใยแก้ว ทำให้ถังชนิดนี้มีความแข็งแรงทนทานสูงมาก เหมาะสำหรับอาคารที่ต้องรองรับปริมาณน้ำเสียในแต่ละวันค่อนข้างมากอย่างคอนโดมิเนียม โรงงาน
๐ ขนาดของถังบำบัดน้ำเสีย หากถังมีขนาดเล็กเกินไปไม่สัมพันธ์กับปริมาณการใช้งาน หรือมีจุลินทรีย์น้อยเกินไปเนื่องจากมีการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำที่เป็นกรดหรือด่างรุนแรงในโถสุขภัณฑ์บ่อยๆ อาจทำให้จุลินทรีย์ตายไปเยอะจนย่อยสลายกากไม่ทัน ดังนั้นจึงควรคำนวณขนาดถังบำบัดน้ำเสียเพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ใช้งาน
สูตรการคำนวณขนาดถังบำบัดน้ำเสีย (ลิตร) = จำนวนผู้อยู่อาศัย x 0.8 (ปริมาณน้ำเสียร้อยละ 80 ของปริมาณน้ำใช้ต่อวัน) x ปริมาณน้ำใช้ต่อคนต่อวัน (ลิตร) x 1.5 (เวลาที่ใช้บำบัดน้ำเฉลี่ย 1.5 วัน) ยกตัวอย่างเช่น มีจำนวนผู้อยู่อาศัย 5 คน คำนวณได้ดังนี้ 5 x 0.8 x 200 x 1.5 = 1,200 ลิตร ดังนั้นควรเลือกใช้ถังบำบัดน้ำเสียที่มีขนาดไม่น้อยกว่า 1,200 ลิตร
หากถังบำบัดมีขนาดเล็กเกินไปมากจากที่คำนวณได้ อาจพิจารณาเปลี่ยนถังบำบัดใหม่ ส่วนกรณีที่จุลินทรีย์มีไม่เพียงพอ ซึ่งสังเกตได้จากกลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้น การแก้ไขทำได้โดยการเติมจุลินทรีย์ลงในถังบำบัดโดยตรง หรือเติมผ่านโถสุขภัณฑ์ก็ได้ และควรลดความถี่ในการล้างห้องน้ำลง หรือเลือกใช้น้ำยาที่ไม่เป็นกรดหรือด่างรุนแรง นอกจากนี้ในการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียควรติดตั้งท่ออากาศขนาด 1 นิ้วบริเวณด้านบนของถังบำบัดน้ำเสียด้วยเพื่อช่วยในการระบายความดันให้อยู่ในสภาวะสมดุลซึ่งหากเกิดความดันภายในถังมากไปจะส่งผลให้ชักโครกไม่ลงได้
ประสิทธิภาพของถังบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ จะดีกว่าถังบำบัดน้ำเสียแบบไม่เติมอากาศ เนื่องจากสามารถลดค่า BOD ได้มากกว่า แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนของค่าไฟฟ้าสำหรับระบบเติมอากาศและค่าบำรุงรักษาในระยะยาว จึงเหมาะกับอาคารที่มีผู้ใช้จำนวนมาก และต้องการน้ำทิ้งที่มีมาตรฐานสูง
ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com
ถังบำบัดน้ำเสียทำงานอย่างไร การทำงานของถังบำบัดน้ำเสีย มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ถังบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ และ ถังบำบัดน้ำเสียแบบไม่เติมอากาศ ซึ่งมีความแตกต่างกัน วัสดุของถังบำบัดน้ำเสีย รวมถึงการเลือกใช้ถังบำบัดน้ำเสีย
ถังบำบัดน้ำเสียทำงานอย่างไร
การติดตั้งถังบำบัดน้ำเสียในที่พักอาศัยเป็นสิ่งสำคัญเพื่อช่วยกรองของเสียและสิ่งปนเปื้อนที่มีอยู่ในน้ำทิ้งให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะทำการปล่อยลงสู่ระบบสาธารณะ ในอดีตการบำบัดน้ำเสียจากโถสุขภัณฑ์ที่เรารู้จักกันดีก็คือ บ่อเกรอะบ่อซึม เป็นการนำถังคอนกรีตสำเร็จรูปทรงกระบอก มาต่อกันและฝังไว้ในดิน จำนวน 2 บ่อ