ต่อเติมหลังคาโรงรถใหม่ ทำพื้นโรงรถ เรื่องพิจารณาสำหรับเจ้าของบ้านที่ต้องการต่อเติมโรงรถ ทั้งส่วนของหลังคาโรงรถและพื้นโรงรถ ให้เข้าใจในภาพรวมเพื่อใช้เป็นหลักในการต่อยอดหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป
โรงรถเป็นอีกส่วนต่อเติมยอดฮิต เพื่อให้รองรับจำนวนรถที่จะจอดในบ้านได้เพียงพอแบบไม่ต้องตากแดดฝน ทั้งนี้ส่วนประกอบสำคัญในการต่อเติมโรงรถย่อมหนีไม่พ้นการต่อเติมหลังคาโรงรถ และบางบ้านอาจมีการปรับปรุงทำพื้นโรงรถด้วย เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งเป็น 2 ประเด็นที่เราจะนำมาคุยกันในครั้งนี้
ต่อเติมหลังคาโรงรถ ต้องมีเสาหรือไม่ ใช้วัสดุอะไรดี ?
หลังคาโรงรถต้องมีเสาหรือไม่…
หากหลังคาโรงรถที่จะต่อเติมมีระยะยื่นออกมาไม่เกิน 2 ม. มักไม่จำเป็นต้องมีเสารับ แต่สามารถติดตั้งเข้ากับโครงสร้างบ้านเดิมได้ในลักษณะของหลังคากันสาด โดยอาจมีแขนดึงจากด้านบนหรือค้ำยันด้านล่างช่วยรับน้ำหนักแทน
ส่วนหลังคาโรงรถที่ต้องมีเสารับ เจ้าของบ้านอาจเลือกลงเสาเข็มสั้นเพื่อชะลอการทรุดตัว ซึ่งจะให้ดีหลังคาที่ต่อเติมขึ้นมาควรถ่ายน้ำหนักทั้งหมดลงเสาที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ไม่ควรเชื่อมหรือฝากไว้กับตัวบ้านเดิม แต่หากจำเป็นต้องทำ ควรใช้รอยต่อแบบเป็นจุดหมุนให้ยืดหยุ่นเผื่อกรณีพื้นทรุดตัวในอนาคต หลังคาที่ต่อเติมจะได้ไม่ดึงรั้งกับบ้านเดิมจนเกิดการฉีก แตกร้าวเสียหาย
อ่านเพิ่มเติม: ต่อเติมหลังคาโรงรถแบบไหนดี ต้องมีเสารับไหม?
วัสดุมุงหลังคาโรงรถแบบไหนดี…
โดยทั่วไปจะนิยมใช้วัสดุมุงน้ำหนักเบา เพื่อลดภาระการรับน้ำหนักของโครงสร้าง โดยเลือกได้ว่าจะใช้วัสดุหลังคาทึบแสง เพื่อกันทั้งแดดและฝนได้เต็มที่ หรือเลือกใช้วัสดุหลังคาโปร่งแสงเพื่อไม่ให้บริเวณนั้นดูทึบจนเกินไป ทั้งนี้หลังคาโปร่งแสงบางประเภทจะมีรุ่นกันความร้อนให้เลือกใช้ด้วย เป็นอีกทางเลือกสำหรับเจ้าของบ้านที่ต้องการแสงธรรมชาติและลดร้อนในตัว
อ่านเพิ่มเติม: ไอเดียตกแต่งหลังคาโรงรถ กันสาด ด้วยหลังคาโปร่งแสงและทึบแสง
ทำพื้นโรงรถแบบไหนดี ?
เบื้องต้นต้องพิจารณาก่อนว่าหลังคาโรงรถของเราจะมีเสารับหรือไม่ หากไม่มีเสารับก็สามารถเลือกตกแต่งพื้นได้ดังต่อไปนี้
กรณีพื้นเดิมเป็นพื้นดิน
อาจใช้วิธีปรับระดับผิวหน้าดินให้เรียบแล้วปูด้วยบล็อกปูพื้น ซึ่งเป็นวัสดุที่แข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี เลือกลวดลายสีสันได้หลากหลาย อีกข้อดีที่สำคัญของบล็อกปูพื้นคือ หากพื้นดินยุบหรือทรุดในอนาคต สามารถรื้อมาปูใหม่ได้ จึงเหมาะกับบ้านที่เพิ่งถมดินได้ไม่นาน อายุไม่เกิน 3-5 ปี ซึ่งอัตราการทรุดยังคงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่วนบ้านที่พื้นรอบบ้านมีอัตราการทรุดตัวน้อยลง (ไม่เกิน 10 ซม. ใน 1 ปี) อาจเลือกหล่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก แล้วตกแต่งพื้นผิวด้วยวัสดุต่างๆ
กรณีพื้นเดิมเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก หากพบว่าพื้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่แตกร้าว หรือเพิ่งหล่อพื้นใหม่ สามารถแต่งผิวด้วยวัสดุต่างๆ ได้ตามต้องการ เช่น ทำพื้นคอนกรีตพิมพ์ลาย ปูกระเบื้องคอนกรีต กระเบื้องเซรามิก ซึ่งมีหลากลวดลายหลายสีสันให้เลือก แต่หากพื้นเดิมมีสภาพแตกร้าวมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการทรุดของดิน เจ้าของบ้านอาจพิจารณารื้อพื้นเดิมออกแล้วหล่อใหม่ หรือเลือกตกแต่งด้วยบล็อกปูพื้นแทนตามความเหมาะสม
แต่หากหลังคาโรงรถของเราจะต้องมีเสารับ ก่อนอื่นให้พิจารณาโครงสร้างที่จะรองรับเสา กรณีมีพื้นคอนกรีตอยู่แล้ว อาจติดตั้งเสาบนพื้นได้เลย ส่วนกรณีเป็นพื้นดินหรือมีการรื้อพื้นคอนกรีตเดิมออกจนเหลือแต่พื้นดิน อาจการลงเสาเข็มหรือเสาเข็มพร้อมฐานราก ตามความเหมาะสมที่วิศวกรพิจารณาก่อนจะตั้งเสา จากนั้นจึงตกแต่งด้วยบล็อกปูพื้น หรือทำการหล่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กและตกแต่งพื้นผิวให้เรียบร้อย
อ่านเพิ่มเติม: พื้นโรงรถทรุดแตกร้าวอย่าตกใจ ปรับปรุงใหม่ได้ให้ดูดี
อ่านเพิ่มเติม: พื้นโรงรถทรุดแตกร้าวอย่าตกใจ ปรับปรุงใหม่ได้ให้ดูดี
สรุปแล้ว การจะต่อเติมโรงรถแต่ละครั้ง มีหลักเกณฑ์ใหญ่ที่ต้องพิจารณาคือ จะทำหลังคาโรงรถแบบใด มีเสารับหรือไม่ จะใช้วัสดุอะไรมุง ในส่วนของพื้นจะใช้บล็อกปูพื้น หรือหล่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กแล้วตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ ทั้งหมดนี้เจ้าของบ้านสามารถนำไปพิจารณาต่อตามความเหมาะสม ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมหลังคาโรงรถหรือทำพื้นโรงรถ แนะนำให้ใช้บริการทีมช่าง ผู้รับเหมา ที่มีความชำนาญ น่าเชื่อถือ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น และลดความเสี่ยงการเกิดปัญหาในการใช้งานระยะยาว
ต่อเติมหลังคาโรงรถใหม่ ทำพื้นโรงรถ เรื่องพิจารณาสำหรับเจ้าของบ้านที่ต้องการต่อเติมโรงรถ ทั้งส่วนของหลังคาโรงรถและพื้นโรงรถ ให้เข้าใจในภาพรวมเพื่อใช้เป็นหลักในการต่อยอดหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป