เลือกวัสดุอะคูสติก แผ่นดูดซับเสียง อย่างไร จึงจะแก้ปัญหาเสียงก้องเสียงสะท้อนได้ดี
เลือกวัสดุอะคูสติก แผ่นดูดซับเสียง อย่างไร จึงจะแก้ปัญหาเสียงก้องเสียงสะท้อนได้ดี
วัสดุแต่ละชนิด มีค่าความสามารถในการดูดซับเสียง ที่ช่วยแก้ไขปัญหาเสียงก้อง เสียงสะท้อนในห้องได้แตกต่างกัน ดังนั้น ในการจะเลือกวัสดุอะคูสติก หรือแผ่นดูดซับเสียง ที่แก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมที่สุดนั้น เราจึงจำเป็นต้องทราบเสียก่อนว่า หลักในการเลือกพิจารณาวัสดุดูดซับเสียงนั้นต้องเลือกจากอะไร และวัสดุใด มีค่าความสามารถในการดูดซับเสียงมากน้อยแค่ไหน
“ปัญหาเสียงก้องเสียงสะท้อน” ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพในการฟังของคนเราด้อยลง จนนำไปสู่การสูญเสียสุนทรีย์ในการฟัง ตลอดไปจนถึงการรับสารที่ไม่ชัดเจนจนก่อให้เกิดความผิดพลาด ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเสียงสะท้อนเสียงก้องในห้องประชุม ที่ทำให้ผู้ฟังฟังไม่รู้เรื่อง เกิดความหงุดหงิด นำสาระสำคัญในการประชุมไปทำงานต่อไม่ได้ หรือ ปัญหาเสียงก้องเสียงสะท้อนในโรงละคร โรงภาพยนตร์ หรือห้องดูหนังฟังเพลง ที่ทำให้อรรถรสในการรับฟังความบันเทิงนั้นลดน้อยหายไป เป็นต้น นั่นเองที่เป็นเหตุผลว่าทำไม เราจึงควรใส่ใจกับการแก้ไขปัญหาเสียงก้องเสียงสะท้อน ซึ่งสามารถทำได้โดยการติดตั้งฉนวนกันเสียง หรือวัสดุดูดซับเสียง ที่วัสดุต่างชนิดกัน ก็จะมีความสามารถในการดูดซับเสียง และแก้ไขปัญหาเสียงสะท้อนได้ต่างกัน
ต้องรู้อะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกวัสดุอะคูสติก/แผ่นดูดซับเสียง?
เนื่องจากวัสดุอะคูสติก/แผ่นดูดซับเสียงแต่ละชนิดนั้น อาจผลิตจากวัสดุที่แตกต่างกัน และวัสดุแต่ละชนิดก็มีความสามารถในการดูดซับเสียงที่ต่างกัน ดังนั้น การที่เราจะทราบได้ว่า วัสดุชนิดใดมีคุณสมบัติในการดูดซับเสียงเพื่อแก้ไขปัญหาเสียงก้องเสียงสะท้อนได้มากที่สุดนั้น มีสิ่งต่างๆ ที่เราควรรู้ไว้เพื่อประกอบการพิจารณา ดังต่อไปนี้
1. การดูดซับเสียง หมายถึง การที่เมื่อเสียงเดินทางมากระทบกับวัสดุใดวัสดุหนึ่ง แล้วจะมีบางส่วนที่ถูกดูดซับไว้ในวัสดุ และส่วนที่เหลือจะถูกสะท้อนออกไป ซึ่งเสียงที่สะท้อนออกไปจะมีพลังงานหรือดังน้อยกว่าแหล่งกำเนิดเสียงเสมอ ดังนั้น วัสดุดูดซับเสียงที่ดี จึงเป็นวัสดุที่ดูดซับเสียงจากแหล่งกำเนิดเอาไว้กับตัวเองได้มาก และเหลือพลังงานเสียงที่สะท้อนออกไปน้อยที่สุด
2. SAC หรือ Sound Absorption Coefficient หมายถึง สัดส่วนของพลังเสียงที่ถูกดูดซับไปเมื่อกระทบกับวัสดุดูดซับเสียง เทียบกับพลังงานเสียงจากแหล่งกำเนิด ยกตัวอย่างเช่น หากวัสดุชนิดหนึ่งมีค่า SAC เท่ากับ 0.80 ก็หมายความว่า วัสดุชนิดนั้นจะดูดซับพลังงานเสียงไว้ 80% เมื่อมีเสียงมากระทบ และจะมี 20% ที่เหลือถูกสะท้อนออกไป
3. ค่า SAC จะแปรผันไปตามความถี่ของเสียงด้วย จึงทำให้ถูกวัดที่หลายความถี่ ได้แก่ 125, 250, 500, 1,000, 2,000 และ 4,000 Hz ดังนั้น ในการเลือกวัสดุดูดซับเสียง ถ้าหากพิจารณาที่ค่า SAC จะต้องพิจารณาจากหลายค่าความถี่ โดยดูที่ค่าความถี่เดียวไม่ได้ เพราะในชีวิตจริง เสียงที่จะมากระทบในห้องนั้น ย่อมมีมากกว่าค่าความถี่เดียว ทั้งนี้ ในการพิจารณาค่า SAC หรือค่าการดูดซับเสียงนั้น ยิ่งมีค่ามากยิ่งดี
4. ค่า NRC หรือ Noise Reduction Coefficient หมายถึง ค่าที่บ่งบอกถึงในการดูดซับเสียงของวัสดุ โดย NRC จะเป็นค่าเฉลี่ยของ SAC ซึ่งถูกวัดที่ความถี่เสียงในระดับต่างๆ ได้แก่ 250, 500, 1,000, 2,000 Hz และปัดเศษให้อยู่ที่ 0.05
5. วัสดุที่จะถือได้ว่าเป็นวัสดุดูดซับเสียง ควรจะมีค่า NRC อยู่ที่ 0.40 ขึ้นไป ทั้งนี้ หูของคนเราไม่สามารถแยกความแตกต่างของค่า NRC ที่ต่างกันเพียง 0.05 ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเลือกใช้วัสดุที่มีค่า NRC 0.70 กับ 0.75 หูของเราจะแยกไม่ออกว่า วัสดุทั้ง 2 นั้นดูดซับเสียงได้ดีต่างกัน
6. ในการเลือกวัสดุเพื่อแก้ไขปัญหาเสียงก้อง เสียงสะท้อนนั้น เราสามารถพิจารณาได้ทั้งจากค่า SAC และ NRC แต่ที่ง่ายที่สุด คือ การดูที่ค่า NRC ของวัสดุต่างๆ โดยควรเลือกที่ตั้งแต่ระดับ 0.40 ขึ้นไป ทั้งนี้ สำหรับสถาปนิกส่วนใหญ่ จะเลือกพิจารณาวัสดุจากค่า NRC เช่นกัน แต่ถ้าหากเป็น Acoustician หรือผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์เรื่องเสียง จะเลือกพิจารณาวัสดุที่ค่า SAC
ควรเลือกวัสดุอะคูสติก/แผ่นดูดซับเสียงชนิดใด เพื่อแก้ปัญหาเสียงก้องเสียงสะท้อน
จากที่ทำความเข้าใจเรื่องการดูดซับเสียงกันไปแล้วว่า วัสดุแต่ละชิ้นนั้นมีค่าความสามารถในการดูดซับเสียง เพื่อแก้ไขปัญหาเสียงก้อง เสียงสะท้อน ที่แตกต่างกัน โดยจะพิจารณาได้จากค่า SAC และ NRC ทั้งนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและการเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจในการเลือกใช้วัสดุดูดซับเสียง เราสามารถพิจารณาได้จากตารางตัวอย่างค่าการดูดซับเสียงของวัสดุชนิดต่างๆ ดังต่อไปนี้
ในการแก้ไขปัญหาเสียงก้อง เสียงสะท้อนในห้องประชุมนั้น ภาพรวมแนวทางของการดำเนินการก็คือ การเลือกใช้วัสดุดูดซับเสียงที่มีค่าการดูดซับเสียงที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ ในการจะทราบได้ว่า จะต้องเลือกใช้วัสดุดูดซับเสียงที่มีค่าการดูดซับเสียงเท่าไร และต้องใช้ปริมาณกี่แผ่น จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาเสียงในห้องได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ นั้น การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงคือแนวทางการแก้ไขที่ดีที่สุด เพราะเราจำเป็นจะต้องทำการวัดและคำนวณก่อนว่า ห้องประชุม ห้องสตูดิโอ ของเรานั้น มีปัญหาหนักมากเพียงใด เพื่อให้สามารถออกแบบแนวทางการแก้ไขได้อย่างถูกต้อง และควบคุมงบประมาณในการดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สนใจและต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเสียง สามารถติดต่อวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านอะคูสติกของเราได้ที่ คุณณัฐคม สุวรรณกุล 085-488-2527
ขอขอบคุณ
www.scghome.com
www.scg-smarthome.com
www.scgmortar.scg-towiwat.com
www.webplandee.com
www.taradwebsite.com