ซื้อสินค้า โทร.02-5110240 | 081-4563232

ไอเดียหลังคากันสาดกับการระบายน้ำฝน

ไอเดียหลังคากันสาดกับการระบายน้ำฝน

ไอเดียหลังคากันสาดกับการระบายน้ำฝน รูปแบบต่าง ๆ ในการระบายน้ำฝนของหลังคาส่วนต่อเติมไม่ว่าจะเป็นโรงรถ หรือกันสาดเหนือประตูหน้าต่างรอบบ้าน ในส่วน ทั้งแบบที่มีรางน้ำและไม่มีรางน้ำ

ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาพภูมิอากาศที่เราเผชิญอยู่นั้นมีทั้งร้อนและฝนตกหนักพร้อมลมกระโชกแรงมากขึ้นทุกๆ ปี แม้การอยู่อาศัยภายในบ้านจะช่วยปกป้องเราจากแสงแดดและลมฝนแล้ว การช่วยลดความรุนแรงของสภาพอากาศตั้งแต่บริเวณภายนอกบ้านก็จำเป็นเช่นกัน โดยเฉพาะการต่อเติมหลังคากันสาด ทั้งบริเวณที่จอดรถและพื้นที่รอบบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เรามักคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุและดีไซน์ที่เข้ากับตัวบ้านเป็นสำคัญ แต่ในความเป็นจริงเราควรคำนึงถึงระบบการระบายน้ำฝนด้วย เพราะน้ำฝนที่ไหลลงจากหลังคาอาจสร้างความเสียหายบนผิวพื้นหรือระบายออกไปรบกวนเพื่อนบ้านข้างเคียงได้

ภาพ: ต่อเติมหลังคาคลุมที่จอดรถหน้าบ้าน
ภาพ: (ซ้าย) ต่อเติมกันสาดแบบทึบเหนือประตูทางเข้าบ้าน, (ขวา) ต่อเติมหลังคาแบบโปร่งคลุมทางเดินรอบบ้าน

มาถึงตรงนี้ เจ้าของบ้านอาจสงสัยว่า “รางน้ำฝน มีความจำเป็นต้องติดตั้งด้วยหรือ?”

 

จริงๆ แล้วเราจะเลือกติดตั้งหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่โดยรอบ หากน้ำฝนไหลลงสู่พื้นที่เป็นพื้นหิน หรือพื้นคอนกรีตในบริเวณที่ไม่ค่อยใช้งาน ห่างไกลจากเพื่อนบ้าน ก็อาจไม่จำเป็นต้องติดรางน้ำฝน แต่หากเป็นสวน สนามหญ้า บ่อปลา รวมถึงกรณีที่ปลายหลังคากันสาดใกล้หรือชนกับเขตรั้วของเพื่อนบ้าน แนะนำให้ติดตั้งรางน้ำฝน เพราะนอกจากจะช่วยลดแรงน้ำฝนที่ตกกระทบบนพื้นผิวแล้ว รางน้ำฝนยังช่วยนำทางน้ำฝนลงสู่ท่อระบายน้ำได้อย่างเป็นระเบียบ ไม่รบกวนทั้งเพื่อนบ้านและบ้านเราเอง ทั้งยังช่วยปกป้องผนังบ้านจากคราบน้ำ ตะไคร่ หรือเชื้อราได้อีกด้วย รูปแบบของปลายหลังคาโรงรถหรือหลังคากันสาดที่มีรางน้ำและไม่มีรางน้ำสามารถทำได้หลากหลายแนวทาง ดังนี้

1. ติดตั้งรางน้ำและต่อท่อระบายน้ำลงสู่พื้น


วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมกันโดยทั่วไป น้ำจากหลังคาจะไหลลงรางน้ำและระบายสู่ท่อน้ำฝนที่สามารถทาสีให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างหลังคาได้ น้ำฝนจากท่อจะไหลตรงไปสู่พื้น หรือต่อลงทางระบายน้ำรอบบ้านโดยตรงเลยก็ได้ การติดตั้งรางน้ำที่ปลายหลังคาสามารถทำได้ทั้งแบบซ่อนรางน้ำ และโชว์รางน้ำ ขึ้นอยู่กับสไตล์ ความเหมาะสมสวยงาม ความชอบของเจ้าของบ้าน โดยให้สอดคล้องกับวัสดุรางน้ำที่เลือกใช้ด้วย

ภาพ: มุมมองด้านบนของหลังคากันสาดที่มีรางน้ำฝนแบบซ่อน
ภาพ: รูปแบบหลังคากันสาดแบบทึบที่ติดตั้งรางน้ำฝนแบบซ่อนในโครงสร้างหลังคา ทาสีท่อระบายน้ำให้กลมกลืนไปกับเสาโครงสร้าง
ภาพ: รูปแบบหลังคากันสาดแบบโปร่งใสที่ติดตั้งรางน้ำฝนแบบซ่อนในโครงสร้างหลังคา ทาสีท่อระบายน้ำให้กลมกลืนไปกับเสาโครงสร้าง
ภาพ: การต่อท่อระบายน้ำฝนลงสู่พื้น หรือทางระบายน้ำรอบบ้าน (ใต้ดิน) ไม่รบกวนเพื่อนบ้าน ในกรณีที่หลังคากันสาดชนกับรั้วข้างบ้าน (ภาพซ้าย: แบบซ่อนรางน้ำ) (ภาพขวา: แบบโชว์รางน้ำ)
ภาพ: ต่อเติมหลังคากันสาดข้างบ้านแบบโชว์รางน้ำฝน

2. ติดตั้งรางน้ำและต่อโซ่ (Rain Chain) ระบายน้ำฝนลงพื้น

การติดตั้งรางน้ำเหมือนกับรูปแบบแรก แต่จะใช้โซ่ระบายน้ำฝนแทนการต่อท่อระบายน้ำเพื่อช่วยชะลอความแรงของน้ำที่มาจากรางน้ำ ซึ่งควรเตรียมพื้นที่ด้านล่างเป็นพื้นสนามหญ้า โอ่งน้ำ กระถางต้นไม้ พื้นโรยหินหรือกรวด เป็นต้น รูปแบบของโซ่ระบายน้ำฝนมีให้เลือกใช้ได้หลากหลายเพื่อให้เข้ากับสไตล์บ้านได้

ภาพ: โซ่ระบายน้ำฝน (Rain Chain) ที่ต่อจากรางน้ำฝนแบบซ่อนของหลังคากันสาด
ภาพ: โซ่ระบายน้ำฝน (Rain Chain) แบบถ้วย สามารถช่วยชะลอความแรงของการระบายน้ำฝนได้

3. ต่อเติมหลังคากันสาดแบบไม่ติดตั้งรางน้ำ

ในกรณีที่ต่อเติมหลังคากันสาดโดยไม่ติดตั้งรางน้ำ ก็สามารถออกแบบลักษณะปลายแผ่นหลังคากันสาดได้หลายแบบไม่ว่าจะเป็น การเว้นช่องว่างระหว่างปลายแผ่นกับโครงหลังคา เพื่อช่วยซ่อนปลายหลังคาให้เรามองเห็นเพียงของโครงสร้างโดยรอบ หรือการยื่นปลายแผ่นหลังคาเลยโครงสร้างออกไป ลักษณะการระบายน้ำจะไหลตามแรงโน้มถ่วงสู่ปลายแผ่นหลังคาก่อนตกกระทบลงพื้น

ภาพ: กันสาดแบบเหลือช่องว่างระหว่างปลายกับโครงหลังคาเพื่อซ่อนปลายแผ่นหลังคา
ภาพ: กันสาดแบบยึดแผ่นกระเบื้องหลังคาเลยขอบโครงสร้าง

สำหรับหลังคากันสาดไม่ว่าจะเลือกติดตั้งรางน้ำหรือไม่ สิ่งที่ต้องคำนึงคือ การระบายน้ำจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นด้านล่าง หรือส่งผลกระทบเสียหายบริเวณโดยรอบ การดีไซน์รางน้ำก็เช่นกัน ไม่ว่าจะซ่อนหรือไม่ ต้องดูแลทำความสะอาดรางน้ำให้สะอาด ไม่มีสิ่งสกปรก ใบไม้หรือกิ่งไม้มาขวางทางน้ำซึ่งจะลดคุณภาพการระบายน้ำลงได้

ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก คิวช่าง Q-Chang

ใส่ความเห็น

×