ซื้อสินค้า โทร.02-5110240 | 081-4563232

5 แนวทางลดร้อนจากหลังคาดาดฟ้าให้บ้านกล่องและตึกแถว

5 แนวทางลดร้อนจากหลังคาดาดฟ้าให้บ้านกล่องและตึกแถว

5 แนวทางลดร้อนจากหลังคาดาดฟ้าให้บ้านกล่องและตึกแถว

5 แนวทางลดร้อนจากหลังคาดาดฟ้าให้บ้านกล่องและตึกแถว รวบรวมแนวทางการแก้ปัญหาความร้อนจากหลังคาดาดฟ้าที่สะสมความร้อนจากแสงแดดตลอดทั้งวัน และถ่ายเทสู่ตัวบ้านหรืออาคารโดยตรง

หลังคาดาดฟ้า หรือพื้นที่ชั้นบนสุดของอาคารที่ไม่มีหลังคาปกคลุม ซึ่งได้รับความร้อนจากแสงแดดตลอดทั้งวัน จะคายความร้อนแผ่เข้าบ้านในช่วงค่ำทำให้บ้านร้อนอบอ้าว การลดปัญหาบ้านร้อนจากหลังคาดาดฟ้าสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ การทาสีกันซึมดาดฟ้าสะท้อนความร้อน การปูกระเบื้อง SOLAR SLAB การติดตั้งฉนวนกันความร้อน การเปลี่ยนเป็นพื้นที่นั่งเล่นหรือสวนลอยฟ้า และการต่อเติมหลังคาคลุมดาดฟ้า ซึ่งต้องตรวจสอบกฎหมายควบคุมอาคาร และต้องคำนึงถึงโครงสร้างการรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วย

1. ทาสีกันซึมดาดฟ้าสะท้อนความร้อน

สีทากันซึมดาดฟ้าจำพวกสีอะคริลิกหรือโพลียูรีเทน นอกจากจะมีคุณสมบัติในการป้องกันการรั่วซึมของน้ำบนดาดฟ้าแล้ว ยังช่วยสะท้อนความร้อนได้ด้วย โดยในเนื้อสีจะเพิ่มสารเคมีที่ช่วยในการสะท้อนความร้อน ทำให้ความร้อนผ่านลงใต้เนื้อสียากขึ้น พื้นดาดฟ้าใต้สีทากันซึมจึงเย็นกว่าปกติ นับเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและควรทำหากมีหลังคาบ้านเป็นพื้นดาดฟ้าคอนกรีต

ภาพ: ทาสีกันซึมดาดฟ้าสะท้อนความร้อนช่วยลดอุณหภูมิในบ้านได้

2. ปูกระเบื้อง SOLAR SLAB บนพื้นดาดฟ้า

SOLAR SLAB เป็นแผ่นกระเบื้องซีเมนต์อัดแรงสูงมี 2 ขนาดคือ ขนาด 30 x 30 ซม. และ 40 x 40 ซม. มีความแข็งแรง รองรับน้ำหนักได้มากกว่า 200 กก. มุมทั้งสี่จะอัดขึ้นรูปเป็นขา เพื่อให้พื้นกระเบื้องยกสูงขึ้นจากพื้นดาดฟ้า มีช่องว่างให้อากาศได้หมุนเวียนและระบายความร้อนได้ ความร้อนจากแสงแดดไม่กระทบบนพื้นดาดฟ้าโดยตรง ส่งผลให้ห้องที่อยู่ใต้หลังคาดาดฟ้าไม่ร้อนอบอ้าวมาก

ภาพ: ปูกระเบื้อง SOLAR SLAB บนพื้นดาดฟ้าช่วยระบายความร้อนและป้องกันความร้อนไม่ให้โดนพื้นผิวดาดฟ้าโดยตรง

3. การติดตั้งฉนวนกันความร้อน

ฉนวนกันความร้อน ที่เลือกใช้เพื่อปกป้องความร้อนจากแสงแดดบนหลังคาดาดฟ้านั้นมี 2 แบบ คือ ฉนวนแบบแผ่นติดตั้งเหนือฝ้าเพดาน และฉนวนแบบพ่นใต้พื้นดาดฟ้า

    • ฉนวนแบบแผ่นติดตั้งเหนือฝ้าเพดาน

ได้แก่ ฉนวนใยแก้ว, ฉนวน PE โฟม, ฉนวน bubble foil มีคุณสมบัติช่วยป้องกันความร้อนผ่านฝ้าเพดานลงมาสู่ภายในตัวบ้าน ทำให้บ้านเย็นขึ้น เหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่ความสูงเหนือฝ้าอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อให้ช่างสามารถขึ้นไปติดตั้งฉนวนกันร้อนได้

ภาพ: การติดตั้งฉนวนกันความร้อนแบบแผ่นติดตั้งเหนือฝ้าเพดาน
    • ฉนวนแบบพ่นใต้พื้นดาดฟ้า

ได้แก่ ฉนวน PU โฟม เป็นเทคโนโลยีการฉีดโฟมเพื่อป้องกันความร้อน, ฉนวนเยื่อกระดาษ เป็นเทคโนโลยีการฉีดเซลลูโลสของกระดาษใช้แล้ว ป้องกันความร้อนและควบคุมอุณหภูมิได้ดี มีน้ำหนักเบา กันเสียงได้ มีสารป้องกันการลามไฟ เหมาะกับบ้านที่มีความสูงเหนือฝ้าน้อย

ภาพ: การติดตั้งฉนวนกันความร้อนแบบพ่นใต้พื้นดาดฟ้า

4. เปลี่ยนเป็นพื้นที่นั่งเล่นหรือสวนลอยฟ้า

ปัจจุบันผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมากขึ้น รวมไปถึงพื้นที่พักผ่อนที่ทำให้วันหยุดอยู่บ้านรู้สึกผ่อนคลายไม่ต้องดิ้นรนออกไปไหน หลายคนจึงมักเปลี่ยนระเบียงคอนโดเป็นสวนขนาดเล็กหรือพื้นที่นั่งเล่น ยิ่งหากมีพื้นที่บนดาดฟ้าด้วยแล้ว จึงไม่น่าแปลกที่จะทำเป็นสวนลอยฟ้าหรือพื้นที่พักผ่อนสำหรับครอบครัว ซึ่งนอกจากให้ความสวยงามและผ่อนคลายแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้แสงแดดปะทะกับพื้นดาดฟ้าโดยตรง การออกแบบพื้นที่นั่งเล่นหรือสวนลอยฟ้ามีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ พื้นที่สังสรรค์ มุมรับประทานอาหาร มุมออกกำลังกาย ปลูกพืชผักสวนครัว สวนดอกไม้ สวนหิน สวนกระถาง สวนหญ้า หรือ ปูหญ้าเทียม

ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงระบบกันซึมและระบบการระบายน้ำที่เหมาะสมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดน้ำขังจนรั่วซึม หรือเกิดความชื้นสะสมที่พื้นดาดฟ้าคอนกรีต ซึ่งทำให้ปญหาใหญ่ตามมา นอกจากนี้ หากต้องการวางกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่ควรคำนึงถึงตำแหน่งที่โครงสร้างสามารถรองรับได้ ซึ่งต้องปรึกษาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญก่อนเพื่อความปลอดภัย

ภาพ: ปูไม้พื้นทับบนพื้นดาดฟ้า ช่วยป้องกันแสงแดดไม่ให้โดนพื้นดาดฟ้าโดยตรง และเปลี่ยนพื้นดาดฟ้าเป็นพื้นที่พักผ่อนสร้างบรรยากาศให้ดูสวยงาม
ภาพ: ปูหญ้าเทียมบนพื้นดาดฟ้าพร้อมจัดวางกระถางต้นไม้และทำสวนแนวตั้ง ช่วยลดปัญหาบ้านร้อนได้
ภาพ: ปลูกพืชผักสวนครัวบนพื้นดาดฟ้าช่วยลดร้อนให้บ้านได้ ต้องคำนึงถึงระบบกันซึมและการระบายน้ำที่ดีด้วย

5. ต่อเติมหลังคาคลุมดาดฟ้า

เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ป้องกันความร้อนลงสู่ตัวบ้านหรืออาคารได้เป็นอย่างดี แถมยังใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใต้หลังคาได้อีกด้วย โดยทำเป็นพื้นที่นั่งเล่น หรืออาจทำหลังคาโปร่งแสงบางส่วนเพื่อใช้ตากผ้าได้ตอนฝนตก หรือใครที่ทำงานอยู่บ้านช่วงกลางวันจะติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่ต่อเติมก็สามารถทำได้เช่นกัน

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงนอกจากโครงสร้างที่ต้องรับน้ำหนักเพิ่มเติมแล้ว ยังมีเรื่องของกฏหมายควบคุมอาคาร โดยต้องจัดทำแบบที่มีสถาปนิกหรือวิศวกรเซ็นรับรองเพื่อยื่นขออนุญาตต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งก็อาจจะมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นก่อนที่จะคิดต่อเติมจึงควรปรึกษากับสถาปนิก หรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ดูแลพื้นที่ก่อน เพื่อตรวจสอบว่าสามารถต่อเติมหลังคาดาดฟ้าใหม่นี้ได้หรือไม่

ภาพ: การต่อเติมหลังคาระแนงกับแผ่นโปร่งแสง ช่วยกรองแสงให้พื้นที่นั่งเล่นและกันฝนได้
ภาพ: พื้นที่นั่งเล่นพักผ่อนที่มีหลังคาคลุมเต็มพื้นที่ดาดฟ้า

จะเห็นได้ว่ามีหลายวิธีที่ช่วยลดร้อนให้หลังคาดาดฟ้าซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยป้องกันการสะสมความร้อนที่พื้นดาดฟ้า และคายความร้อนลงสู่ตัวบ้าน ทำให้บ้านร้อนอบอ้าวจนไม่อยากใช้งานห้องใต้หลังคาดาดฟ้า เหนือสิ่งอื่นใดก่อนที่จะแก้ไขปัญหาลดร้อนให้หลังคาดาดฟ้า ควรตรวจสอบพื้นที่ดาดฟ้าไม่ให้มีรอยแตกร้าวเสี่ยงต่อการรั่วซึม ปรับระดับพื้นให้ลาดเอียงระบายน้ำได้ดี และควรทำระบบกันซึมให้เรียบร้อย รวมถึงคำนึงถึงโครงสร้างส่วนที่ต้องรองรับการต่อเติมเป็นหลังคาหรือพื้นที่นั่งเล่นต่าง ๆ โดยปรึษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
www.scghome.com

โพสต์นี้มีความคิดเห็นเดียว

  1. 5 แนวทางลดร้อนจากหลังคาดาดฟ้าให้บ้านกล่องและตึกแถว รวบรวมแนวทางการแก้ปัญหาความร้อนจากหลังคาดาดฟ้าที่สะสมความร้อนจากแสงแดดตลอดทั้งวัน และถ่ายเทสู่ตัวบ้านหรืออาคารโดยตรง

ใส่ความเห็น

×