11 รูปทรงหลังคาสำหรับบ้านใหม่
รูปทรงหลังคามีให้เลือกมากมาย นอกจากจะเลือกให้ตรงกับความชอบ เหมาะกับสไตล์บ้านเราแล้ว การทำความรู้จักกับลักษณะเฉพาะและข้อดีข้อด้อยของรูปทรงหลังคาก็ถือว่าสำคัญเลยทีเดียว
หลังคาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของบ้าน หลังคาแต่ละรูปทรงก็มีรูปร่างหน้าตา คุณสมบัติในการกันแดดกันฝนแตกต่างกันไป ซึ่งจะส่งผลต่อการออกแบบให้เหมาะสมกับตัวบ้าน ทั้งในแง่ฟังก์ชันใช้สอย ความสวยงาม และความเข้ากันกับภาพรวมของบ้านทั้งหลัง ก่อนที่เราจะเลือกรูปทรงหลังคาในแบบฉบับของเราเองนั้น เรามาทำความรู้จักกับรูปทรงหลังคาแต่ละแบบก่อนว่ามีอะไรบ้างที่น่าสนใจ
1. หลังคาทรงจั่ว กันแดดได้ ระบายความร้อนดี
หลังคาทรงจั่ว (Gable Roof) หลังคารูปทรงเรียบง่าย ที่ผืนหลังคาด้านซ้ายและด้านขวาเอียงขึ้นมาบรรจบกันที่สันบนสุดตรงกลาง ปัจจุบันนิยมทั้งแบบที่มีชายคายื่นยาวทั้งส่วนปลายหลังคาและด้านหน้าจั่วเพื่อกันแดดฝน และแบบที่ไม่มีชายคาให้ดูเรียบเท่โมเดิร์นทันสมัย ซึ่งอาจเลือกใช้คู่กับการออกแบบระแนงหรือกันสาดเพิ่มเติมตามจุดที่แดดส่องหรือฝนสาดเพื่อให้เข้ากับบ้านเมืองไทย
ข้อดีของหลังคาจั่วคือ ก่อสร้างง่ายเพราะช่างมีความชำนาญ ช่วยกันแดดกันฝนได้ดี อีกทั้งหากเจาะช่องระบายอากาศบริเวณหน้าจั่วร่วมด้วยก็จะช่วยระบายความร้อนบริเวณโถงหลังคาได้ แต่มีข้อเสียคือมีโอกาสที่ฝนจะสาดเข้ามาที่ผนังอาคารบริเวณหน้าจั่วได้
ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นหลังคาหน้าจั่วกับบ้านสไตล์ร่วมสมัย และบ้านสไตล์โมเดิร์น รวมถึงบ้านสไตล์อื่นๆ ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ
2. หลังคาทรงปั้นหยา กันแดดกันฝน ทนแรงลม
หลังคาปั้นหยา (Hip Roof) อีกทรงหลังคาที่ดูเรียบง่าย มีผืนหลังคาทั้งสี่ด้านลาดเอียงขึ้นไปชนกันจรดสันหลังคา สามารถออกแบบให้มีระยะชายคาเล็กน้อยหรือระยะชายคาที่ยื่นยาวได้
มีข้อดีคือหากเป็นหลังคาที่มีระยะชายคายื่นยาวจะกันแดดกันฝนได้ทุกด้าน อีกทั้งทนต่อการปะทะจากแรงลมได้ดี แต่มีข้อเสียคือ เมื่อไม่มีหน้าจั่วที่จะช่วยเรื่องการระบายความร้อน ซึ่งสามารถปรับได้โดยการเลือกใช้ฝ้าชายคาแบบที่มีรูระบายอากาศ หรือการทำหลังคาสองชั้น ให้ช่วยระบายความร้อนได้ หลังคารูปทรงปั้นหยานี้ พบได้กับบ้านหลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็น สไตล์ร่วมสมัย สไตล์โมเดิร์น สไตล์ไทยประยุกต์ เป็นต้น
3. หลังคาทรงมนิลา ปั้นหยาผสมจั่วที่ทนแดดฝน
หลังคาทรงมนิลา (Manila Roof บ้างก็เรียกว่า Dutch Gable Roof) เป็นหลังคาที่เอารูปแบบของหลังคาทรงจั่วกับทรงปั้นหยามาผสมกัน ส่วนใหญ่จะนิยมใช้แบบที่มีชายคายื่นยาวเพื่อให้กันแดดกันฝนได้ทุกทาง
มีข้อดีคือ ส่วนที่เป็นหลังคาทรงปั้นหยาจะช่วยป้องกันแดดฝนได้ทั้งสี่ด้าน ส่วนที่เป็นทรงจั่วเมื่อติดตั้งเกล็ดหรือช่องระแนงระบายอากาศด้วยจะช่วยลดความร้อนให้บ้านเย็นลงได้ จึงเป็นรูปทรงหลังคาที่เหมาะกับบ้านเมืองร้อนฝนตกชุกอย่างเมืองไทยมาก
หลังคาทรงนี้จะเหมาะกับบ้านสไตล์ไทยประยุกต์ ที่ดูประณีตสวยงาม มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย รวมถึงสไตล์โคโลเนียล ที่เป็นการผสมระหว่างวัฒนธรรมไทยและศิลปะตะวันตกอย่างลงตัว โดยนิยมเลือกใช้กระเบื้องหลังคาหางว่าว ที่เมื่อมุงเสร็จจะเห็นเป็นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเรียงตัวต่อเนื่องกันอย่างเป็นระเบียบในแนวเส้นทแยงมุม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่คู่กับบ้านเรือนไทยมานาน
4. หลังคาทรงจั่วตัด เรียบง่าย กันแดดฝนได้ดี
หลังคาทรงจั่วตัด (Jerkinhead Roof) หลังคาทรงจั่วที่ดูเหมือนมีการฝานตัดเอาส่วนมุมแหลมด้านบนสุดออกและทำมีผืนหลังคาคาเล็ก ๆ ลาดเอียงลงมา ให้ความรู้สึกมนมากกว่าหลังคาทรงจั่วปกติ ดูเป็นหลังคาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นิยมแบบที่มีชายคาเพื่อให้ดูมีมิติยื่นออกมาจากผนัง
ข้อดีของหลังคาทรงนี้คือสามารถกันแดดกันฝนได้ในลักษณะเดียวกับหลังคาจั่ว โดยผืนหลังคาส่วนมุมตัดหน้าจั่วนี้จะช่วยกันแดดและฝนสาดเข้าช่องหน้าต่าง หรือเกล็ดระบายอากาศบริเวณหน้าจั่วได้
สามารถพบเห็นได้ในบ้านสไตล์ร่วมสมัย หรือบ้านสไตล์อื่นๆ ตามลักษณะการออกแบบ
5. หลังคาทรงเพิงแหงน เรียบเท่ ทันสมัย
หลังคาเพิงแหงน (Lean-to Roof) หลังคาที่เรียบลาดเอียงเพียงด้านเดียว ดูเรียบง่ายเท่ทันสมัย นิยมทำแบบที่มีชายคาเพื่อช่วยในการบังแดดฝน
มีข้อดีคือ มีรอยต่อน้อย ไม่มีผืนหลัคาซับซ้อน จึงก่อสร้างง่ายรวดเร็ว อีกทั้งประหยัดโครงสร้างหลังคา ประหยัดเวลาและค่าแรง แต่เรื่องกันแดดกันฝนนั้น จะบังแดดกันฝนได้เพียงด้านเดียวคือฝั่งที่หลังคาลาดเอียงลงมา โดยเราสามารถออกแบบระแนง ทำกันสาด หรือลูกเล่นอื่นเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ ได้
ในอดีตนิยมใช้หลังคาทรงนี้กับงานก่อสร้างแบบชั่วคราวหรืองานต่อเติมแบบเล็กๆ ง่ายๆ เช่น โรงจอดรถ หรือครัวส่วนต่อเติม แต่ปัจจุบันหลังคาทรงนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะเส้นสายที่ดูเรียบเท่นี้ จึงตอบโจทย์บ้านสไตล์โมเดิร์นได้อย่างดี นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้กับบ้านสไตล์อื่นๆ ได้อีก เช่น บ้านสไตล์เนเชอรัล โดยอาศัยการเลือกวัสดุและองค์ประกอบอื่นๆ ให้สอดคล้องกัน
6. หลังคาปีกผีเสื้อ โดดเด่นมีเอกลักษณ์ แต่ต้องระวังเรื่องการรั่วซึม
หลังคาปีกผีเสื้อ (Butterfly Roof) หลังคาที่เกิดจากหลังคาทรงเพิงแหงนสองด้านลาดเอียงลงมาประกบกันเหมือนปีกผีเสื้อที่กางออก (คล้ายทรงจั่วคว่ำแต่ลาดชันไม่มาก) นิยมออกแบบให้มีชายคา
สิ่งที่ต้องระวังเมื่อจะเลือกใช้หลังคาทรงนี้คือ มีโอกาสที่น้ำฝนจะรั่วซึมแล้วไหลเข้าสู่ตัวบ้านได้ง่ายกว่าหลังคารูปทรงอื่น เพราะด้วยลักษณะที่หลังคาทั้งสองด้านลาดเอียงมาเจอกันตรงกลาง ปริมาณน้ำฝนทั้งหมดที่หลังคารองรับมาได้จะไหลมารวมกันที่ส่วนนี้ทั้งหมด ดังนั้นต้องเตรียมรางระบายน้ำขนาดที่เหมาะสมกับการปริมาณน้ำฝน (ที่รับน้ำพร้อมกันจากหลังคาทั้งสองฝั่ง) และมีระบบระบายน้ำที่ดี
หลังคาทรงนี้ดูเรียบเท่แต่ก็มีลูกเล่นที่แตกต่าง เหมาะกับบ้านสไตล์โมเดิร์น หรือบ้านสไตล์เนเชอรัล ขึ่นอยู่กับองค์ประกอบส่วนอื่นๆ ที่ใช้ในการออกแบบบ้าน
7. หลังคาเรียบแบน ดูเรียบง่าย เพิ่มพื้นที่ใช้สอย
หลังคาเรียบ (Flat Roof) หากเรามองจากภายนอก หลังคารูปทรงนี้จะดูเรียบตรงเหมือนกัน แต่อันที่จริงแล้วจะมีสองแบบตามลักษณะการก่อสร้าง แบบแรกคือหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็ก (Flat Slab Roof) หรือหลังคาดาดฟ้าที่เกิดจากการหล่อคอนกรีตเป็นแผ่นพื้นเรียบแบนเป็นผืนเดียวกัน สามารถหล่อให้เอียงหรือมีรูปทรงต่าง ๆ ได้ตามการออกแบบ แบบที่สองคือหลังคา Parapet เป็นรูปแบบหลังคาที่มีผนังล้อมรอบเพื่อปิดบังหลังคามุงที่ซ่อนไว้ (หลังคาซ่อน) หรือเป็นพื้นดาดฟ้าที่มีผนังกันตกโดยรอบขอบอาคาร
ข้อดีของหลังคาที่มีพื้นดาดฟ้าคือ สามารถออกแบบเป็นสวนดาดฟ้าสำหรับนั่งเล่น พักผ่อน ทั้งยังช่วยลดความร้อนจากแสงแดดโดยไม่ให้ส่องตกกระทบพื้นคอนกรีตโดยตรง ส่วนข้อควรคำนึงคือคอนกรีตจะดูดซับความร้อนไว้ในเนื้อวัสดุและแผ่เข้าสู่ภายในบ้าน และหากมีรอยร้าวบนพื้น น้ำฝนจะค่อยๆ ซึมสะสมในเนื้อคอนกรีตจนเกิดการรั่วซึมในอนาคตได้ จึงต้องติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพิ่มเติม รวมถึงทำระบบกันซึมและปรับระดับพื้นให้มีความลาดเอียงไปยังทางระบายน้ำที่ดี ส่วนหลังคา Parapet ที่มีหลังคามุงซ่อนอยู่ควรคำนึงถึงความชันหลังคาให้เหมาะสมเป็นไปตามสัดส่วนที่ออกแบบไว้ ไม่ชันจนทำให้ผนังโดยรอบสูงเกินไป และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการทำระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ
หลังคาเรียบทุกแบบนี้ เหมาะกับบ้านที่เรียบง่ายสไตล์โมเดิร์น
8. หลังคาทรงโค้ง ดีไซน์ล้ำ ดูเรียบมน ดึงดูดความสนใจ
หลังคาทรงโค้ง (Curved Roof) เป็นหลังคาที่โดดเด่นโค้งมนดึงดูดความสนใจจากในระยะไกล นิยมออกแบบในลักษณะที่มีชายคา ทั้งแบบยื่นในระยะสั้นและแบบยื่นยาว
นิยมก่อสร้างด้วยโครงสร้างเปลือกบาง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วัสดุประเภทเมทัลชีทหรืออะลูมิเนียมขึ้นรูป มีน้ำหนักเบารอยต่อน้อย จึงมีข้อดีคือสร้างผิวโค้งได้หลากหลายรูปแบบรูปทรง และไม่ค่อยรั่วซึมเท่าไรนัก แต่ต้องอาศัยการออกแบบคำนวณโครงสร้างรองรับจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เป็นหลังคาที่ปกคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ได้อย่างน่าสนใจและปลอดภัย
เข้ากับบ้านได้หลากหลายสไตล์ขึ้นอยู่กับการออกแบบ
9. หลังคาทรงหลายเหลี่ยม ดูประณีต กันแดดกันฝนได้ดี
หลังคาทรงหลายเหลี่ยม ดูผ่านๆ จะคล้ายคลึงกับหลังคาปั้นหยา แต่หลังคาปั้นหยาจะเกิดจากผืนหลังคาสี่ด้านที่ลาดเอียงขึ้นไปเจอกันด้านบนสุด ส่วนหลังคาหลายเหลี่ยมนี้ จะมีที่นิยมทั้งแบบหกเหลี่ยม (Hexagonal Roof) จะเป็นผืนหลังคาหกผืนลาดเอียงขึ้นไปเจอกันด้านบนเป็นสุด และแบบแปดเหลี่ยม (Octagonal Roof) จะเป็นผืนหลังคาแปดผืนลาดเอียงขึ้นไปเจอกันด้านบนเป็นสุด
มีข้อดีคือ สามารถบังแดดฝนให้กับผนังอาคารได้ทุกด้าน แต่มีข้อควรคำนึงคือการเตรียมโครงสร้างที่เหมาะสม มีการคำนวณเพื่อให้รองรับหลังคาหลายเหลี่ยมนี้ได้ทั้งหมด
ส่วนใหญ่จะใช้กับศาลาหรือเป็นส่วนประกอบหนึ่งของบ้านโดยเฉพาะส่วนที่เป็นโถงสูงอย่างห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องอาหาร สามารถเข้ากับบ้านได้หลายสไตล์ เช่น สไตล์เนเชอรัล สไตล์คลาสสิก
10. หลังคาทรงโดม ดูโออ่า ประณีตงดงาม
หลังคาทรงโดม (Dome Roof) มีลักษณะโค้งมนคล้ายผลส้มผ่าครึ่งคว่ำ ดูประณีตอ่อนช้อยสวยงาม สำหรับบ้านพักอาศัยสามารถใช้วัสดุขึ้นรูปสำเร็จ เช่น คอนกรีตเสริมใยแก้ว (GRC) เป็นโครง และปิดผิวด้วยวัสดุตกแต่งอย่างกระเบื้องโมเสก แผ่นโลหะ หรือทาสีทับตามต้องการ
ข้อควรคำนึงคือรายละเอียดป้องกันการรั่วซึมบริเวณรอยต่อระหว่างวัสดุสำเร็จของตัวโดมกับงานโครงสร้างรองรับ และเลือกใช้ช่างฝีมืองานปูนปั้นในการตกแต่งหลังคาโดมตามที่ได้ออกแบบไว้
หลังคาทรงนี้เหมาะกับบ้านสไตล์คลาสสิก ที่อาจเลือกใช้หลังคาทรงโดมเป็นบางส่วนของหลังคาบ้านเพื่อดึงดูดความสนใจ
11. หลังคารูปทรงอิสระ ดูท้าทาย น่าตื่นตาตื่นใจ
หลังคารูปทรงอิสระ (Free Form Roof) จะมีความเฉพาะตัวโดดเด่นเรื่องรูปทรงที่แตกต่างตามการออกแบบของนักออกแบบเพื่อให้เข้ากับสไตล์บ้าน และตอบความต้องการของเจ้าของบ้านแต่ละคน ที่จะหลุดจากกรอบเดิมๆ จำพวกเหลี่ยมหรือรูปทรงเรขาคณิตปกติ เช่น รูปทรงหลายเหลี่ยมมาผสมผสานกัน รูปทรงที่โค้งงอนเหมือนคลื่นที่ไม่สมมาตร
มีข้อควรคำนึงคือ อาจต้องอาศัยการออกแบบคำนวณจากคอมพิวเตอร์ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการเลือกงานโครงสร้าง เลือกวัสดุที่ความยืดหยุ่น รองรับรูปทรงหลังคาที่ท้าทายได้ เช่น แผ่นหลังคายางมะตอย (Asphalt Shingle) หรือแผ่นโลหะรีดลอน (Metal Sheet) และต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญงานก่อสร้างในลักษณะนี้เป็นอย่างมาก
หลังคารูปทรงอิสระนี้สามารถออกแบบให้สอดคล้องกับบ้านสไตล์ล้ำๆ เช่น อาว็อง-การ์ด (Avant-garde) เป็นต้น
เมื่อเราได้รูปทรงหลังคาที่ถูกใจแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการออกแบบโครงสร้างที่รองรับให้แข็งแรง เหมาะสม สัมพันธ์กัน เพื่อให้ได้บ้านสวยๆ ที่อยู่คู่กับเราไปนานๆ