
10 เช็กลิสต์ ชวนตรวจบ้านหลังแผ่นดินไหว
10 เช็กลิสต์ ชวนตรวจบ้านหลังแผ่นดินไหว หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวทำให้บ้านเรือนอาคารได้รับความเสียหาย มาตรวจสอบบ้านเบื้องต้นด้วยตนเองกันก่อนตาม 10 เช็กลิสต์นี้ แล้วจึงนำไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรเพื่อหาแนวทางการแก้ไขต่อไป
ปัญหาเกี่ยวกับที่พักอาศัยทั้งคอนโดหรือบ้านที่มักพบหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เห็นได้อย่างชัดเจนคงหนีไม่พ้นรอยร้าวต่างๆ ที่ผนัง ฝ้าเพดานร่วงลงมา แต่จริง ๆ แล้วมีอีกหลายอย่างที่เราอาจหลงลืมได้และมัวรอให้ผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรเข้ามาตรวจสอบ อย่างไรก็ดี หากที่พักอาศัยไม่ได้สุ่มเสี่ยงต่อการร่วงหล่นหรือพังทลายลงมาเราสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ด้วยตนเองก่อนจากการสังเกตด้วยตาเปล่า แล้วจึงนำไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรอีกครั้ง ซึ่งพิจารณาได้ 10 รายการ ดังนี้
1. หลังคา
หลังคาแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 กลุ่ม ได้แก่ หลังคามุง และ หลังคาคอนกรีต/ดาดฟ้า
- หลังคามุง อย่างกระเบื้องหลังคาคอนกรีต กระเบื้องหลังคาเซรามิก เมทัลชีท ฯลฯ ให้สังเกตว่ามีวัสดุมุงหลังคาที่หลุดหรือขยับออกจากแนวหรือไม่ มีกระเบื้องแตกร้าว หรือหลังคามีการทรุดตัวพังลงมาเนื่องจากโครงสร้างเสียหาย
- หลังคาคอนกรีต/ดาดฟ้า ให้สังเกตว่ามีรอยแตกร้าวลายงาหรือเป็นรอยแตกลึก รอยแยกกว้างเห็นเหล็กเส้นภายใน หรือพื้นดาดฟ้ามีรอยแยกออกจากกัน
2. ฝ้าเพดาน
เป็นจุดที่พบบ่อยเนื่องจากฝ้าเพดานมักเป็นโครงคร่าวแบบแขวนทำให้หลุดร่วงได้ง่าย ให้สังเกตว่าฝ้ามีรอยแตกร้าว หรือฝ้าหลุดร่วงลงมา โครงคร่าวฝ้าเพดานพังเสียหายหรือไม่
3. ผนัง
ก่อนอื่นต้องรู้ว่าผนังเราเป็นประเภทไหน ได้แก่ ผนังก่อ ผนังสำเร็จ หรือผนังเบา โดยให้พิจารณา ดังนี้
- ผนังก่อ ให้สังเกตว่าผนังแตกร้าวลายงาหรือว่าหลุดล่อน เช่น ผิวปูนฉาบหลุด กระเบื้องแตกหลุด ผนังมีการทะลุพังทลาย หรือเห็นมีรอยด่างน้ำที่ผนัง
- ผนังสำเร็จ ให้สังเกตว่าผนังแตกร้าวลายงาหรือแตกตามรอยต่อหรือไม่ หรือผนังปูนแตกหลุดล่อนจนเห็นเหล็กเส้นภายใน
- ผนังเบา คือ แผ่นฝาไม้เทียม/ไม้จริงประกบโครงสร้างผนังอาจเป็นโครงไม้หรือโครงกัลวาไนซ์ก็ได้ ให้สังเกตว่าแผ่นผนังขยับเห็นรอยต่อหรืออาจมีรอยแตกตามแนวสกรู แผ่นผนังหลุดจากโครง โครงผนังพังเสียหายหรือไม่
รอยผนังเป็นสิ่งที่พบบ่อยเพราะเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เพียงอาคารมีการขยับตัวเล็กน้อยก็เกิดรอยแตกร้าวได้แล้ว ทำให้หลายคนอาจสงสัยและกังวลว่ารอยร้าวที่เห็นส่งผลอันตรายหรือสุ่มเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ >>ปัญหาน่ารู้ รอยร้าวผนัง แบบไหนซ่อมได้ แบบไหนอันตราย
4. พื้น
แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ พื้นปูน พื้นโครงเหล็กกับแผ่นบอร์ด พื้นไม้ โดยให้พิจารณา ดังนี้
- พื้นปูน ให้สังเกตว่าพื้นผิววัสดุแตกหลุดล่อน หรือพื้นแตกระเบิดจนเห็นเหล็กเส้นภายใน หรือว่าพื้นทรุดแยกตัวจากแนวคานเห็นได้อย่างชัดเจน
- พื้นโครงเหล็กกับแผ่นบอร์ด ให้สังเกตว่าแผ่นพื้นขยับเห็นรอยต่อหรืออาจมีรอยแตกตามแนวสกรู แผ่นพื้นบอร์ดแตกเห็นโครงสร้าง โครงเหล็กบิดเบี้ยวผิดรูปหรือไม่
- พื้นไม้ ให้สังเกตว่าแผ่นไม้ขยับเห็นเป็นแนวร่อง แผ่นไม้แตกหักหลุดหล่นจนเห็นโครงสร้าง โครงสร้างพื้นโก่ง/หักหรือไม่
5. โครงสร้าง
โครงสร้างที่สามารถมองเห็นได้ ได้แก่ เสา คาน ให้สังเกตว่ามีรอยแตกร้าวลายงา ผิวปูนหลุดล่อน หรือรอยแตกลึกเห็นเหล็กเส้นภายใน เสา/คานเอียงผิดรูปไปจากเดิมหรือไม่
6. ประตู/หน้าต่าง
หากผนังอาคารขยับตัวจนวงกบประตูหน้าต่างบิดผิดรูปไปจากเดิม จะทำให้ไม่สามารถเปิดปิดประตู/หน้าต่างได้ รวมถึงลูกฟักกระจกแตกเสียหาย
7. งานระบบอาคาร
มักมองไม่เห็นเนื่องจากอยู่ภายในผนังบ้าง ใต้คานพื้นบ้าง อย่างระบบประปา ระบบท่อน้ำเสีย ระบบไฟฟ้า แต่สามารถสังเกตได้ดังนี้
- ระบบประปา มีรอยด่างน้ำที่พื้น ผนัง หรือฝ้าเพดาน ควรสังเกตต่อเนื่องในเดือนถัดไปหากบิลค่าน้ำประปาสูงขึ้นผิดปกติ
- ระบบท่อน้ำเสีย มักอยู่ใต้คานพื้นไม่สามารถมองเห็นได้ แต่หากได้กลิ่นเหม็นท่อผิดปกติไปจากเดิม อาจเป็นไปได้ว่าเกิดการรั่วซึมตามแนวรอยต่อของท่อ
- ระบบไฟฟ้า สวิตช์ไฟ/เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุดใช้งานไม่ได้
8. ส่วนต่อเติม
ส่วนต่อเติมต่างๆ รอบบ้านก็เป็นอีกจุดที่อาจพบว่าเสียหายได้ เนื่องจากเป็นคนละส่วนแยกจากโครงสร้างบ้านเดิม ได้แก่ หลังคาส่วนต่อเติมอย่างกันสาด หลังคาที่จอดรถหลุดร่วง รอยแยกของแนวผนังรอยต่อระหว่างตัวบ้านหลักกับห้องที่ต่อเติม และพื้นส่วนต่อเติมทรุดตัว
9. พื้นที่รอบบ้าน
เมื่อสำรวจตัวบ้านเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมพิจารณาบริเวณรอบบ้านด้วยว่ามีส่วนใดเสียหายรึป่าว ได้แก่ พื้นรอบบ้านทรุดจนเกิดโพรงใต้บ้าน บ่อน้ำ/บ่อปลารวมถึงสระว่ายน้ำมีรอยแตกร้าวมีน้ำรั่วซึม ประตูรั้วบ้านยังคงเปิดปิดใช้งานได้ดี ตลอดจนรั้วบ้านมีรอยแตกร้าวหรือไม่
10. อื่นๆ
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ อาจเกิดการชำรุดเสียหาย เช่น หน้าบานตู้หลุด บานกระจกแตก สำรวจโคมไฟต่างๆ ว่ามีการหลุดเผยอหรือไม่ และหากได้กลิ่นไม่พึงประสงค์อย่างกลิ่นแก๊สก็อาจเกิดจากท่อแก็สหุงต้มหลวม/รั่วได้
ทั้งนี้ สามารถพิจารณาภาพรวมจากตารางเช็กลิสต์ที่สรุปได้ดังนี้
สามารถดาวโหลดไปใช้ได้ คลิก >> 10 เช็กลิสต์ ชวนตรวจบ้านหลังแผ่นดินไหว
เช็กลิสต์ 10 รายการที่แนะนำไป เป็นสิ่งที่เราสามารถสังเกตเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากตรวจสอบจนครบถ้วนแล้ว ควรนำเช็กลิสต์ที่ได้ไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรอีกครั้งเพื่อวางแผนการซ่อมแซมได้อย่างถูกวิธี
Housing Expert By SCG
หจก.ต.วิวัฒน์ค้าวัสดุภัณฑ์ (1987)
เลขที่ 56 ถนนพิบูลสงคราม ตำบลเมืองใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี 11000
SCG Authorized Dealer ตัวแทน จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สี เคมีภัณฑ์ คุณภาพ
จำหน่ายสินค้า วัสดุก่อสร้างทุกชนิด เหล็ก อิฐ หิน ปูน ทราย ไม้พื้น ระแนง กระเบื้องปูพื้น หลังคา กระเบื้องหลังคา รางน้ำฝน แลนด์สเคป ยิปซั่ม สมาร์ทบอร์ด ซีเมนต์บอร์ด ประตู หน้าต่าง สุขภัณฑ์ ไฟฟ้า ประปา สี เคมีภัณฑ์ เครื่องมือช่าง ฯลฯ จัดจำหน่าย ค้าปลีก , ค้าส่ง และโครงการ
10 เช็กลิสต์ ชวนตรวจบ้านหลังแผ่นดินไหว หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวทำให้บ้านเรือนอาคารได้รับความเสียหาย มาตรวจสอบบ้านเบื้องต้นด้วยตนเองกันก่อนตาม 10 เช็กลิสต์นี้ แล้วจึงนำไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรเพื่อหาแนวทางการแก้ไขต่อไป