เลือกรูปแบบประตูหน้าต่างให้ตอบโจทย์
เลือกรูปแบบประตูหน้าต่างให้ตอบโจทย์ ประตูและหน้าต่าง องค์ประกอบของบ้านที่เชื่อมโยงแต่ละพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ภายในกับพื้นที่ภายนอก และพื้นที่แต่ละห้องในบ้าน ซึ่งมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้งาน สนใจประตู หน้าต่าง พร้อมบริการติดตั้ง คลิกที่นี่
รูปแบบประตูแต่ละแบบ
- ประตูบานเปิด เป็นประตูที่สามารถเปิดได้กว้างถึง 180 องศา เลือกได้ว่าจะติดตั้งให้เปิดเข้าหรือเปิด ออกซึ่งจะต้องเผื่อเนื้อที่สำหรับการเปิดประตูลักษณะนี้ด้วย ประตูบานเปิดจะมีให้เลือกทั้งบานเปิดเดี่ยวและบานเปิดคู่ นิยมใช้เป็นประตูทางเข้าบ้าน ประตูภายในบ้านที่เปิดเข้าสู่ห้อง รวมถึงประตูห้องน้ำ
- ประตูบานสวิง มีลักษณะคล้ายประตูบานเปิด แต่ต่างตรงที่สามารถผลักเข้าและผลักออกได้ บานประตูมักใช้กรอบอะลูมิเนียมและลูกฟักกระจก บริเวณกรอบบานจะมีอุปกรณ์สวิงลักษณะเหมือนแกนหรือเดือยยึดกับพื้นด้านล่างและวงกบหรือบานประตูที่ต่อเนื่องด้านบน ซึ่งประตูรูปแบบนี้เหมาะกับพื้นที่สาธารณะที่มีคนเข้า-ออกเป็นประจำ
- ประตูบานเฟี้ยม เป็นการนำบานประตูมาต่อกันด้วยบานพับ การเปิดจะเป็นลักษณะพับทบสลับกันไปรวมที่ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน จึงเปิดได้กว้างกว่าประตูรูปแบบอื่น นิยมนำมาใช้กั้นแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน หรือเป็นฉากกั้นห้องภายในบ้าน เช่น กั้นพื้นที่รับประทานอาหารออกจากพื้นที่นั่งเล่น เป็นประตูจากห้องนั่งเล่นออกสู่ระเบียง ประตูรูปแบบนี้นอกจากจะมีฟังก์ชั่นที่เปิดได้สุดแล้ว ยังนิยมใช้เป็นองค์ประกอบในการตกแต่งบ้านเพราะมีความสวยงามอีกด้วย
- ประตูบานหมุน (Pivot Door) เป็นประตูที่ติดตั้งจุดหมุนไว้ตรงกลางบาน หากติดตั้งบานเดียวจะเหลือช่องที่สามารถใช้งานเข้า-ออกได้แค่ครึ่งเดียว จึงนิยมติดตั้งประตูบานหมุนตั้งแต่สองบานขึ้นไปเพื่อให้ใช้สอยได้อย่างสบายๆ ประตูลักษณะนี้สามารถใช้กั้นแบ่งพื้นที่ภายในบ้านหรือกั้นระหว่างภายในและภายนอกได้ โดยควรเลือกโช๊คอัพฝังพื้น (Floor Spring) แบบตั้งค้าง 90° แต่หมุนได้รอบ 360° ให้สะดวกต่อการใช้งาน
- ประตูบานเลื่อน เป็นลักษณะที่บานประตูเลื่อนไปด้านข้างเพื่อเปิดปิด ช่วยประหยัดพื้นที่ มีทั้งแบบบานเลื่อนเดี่ยว บานเลื่อนคู่ รวมถึงบานเลื่อนสาม เรื่องการใช้สอยเพื่อเข้า-ออกของบานเลื่อนเดี่ยวและเลื่อนคู่จะเหลือแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น ส่วนบานเลื่อนสามจะเปิดใช้งานได้กว้างขึ้นแต่อาจไม่เหลือรางสำหรับติดตั้งมุ้งลวด มีรูปแบบรางเลื่อนล่างซึ่งนิยมใช้เป็นประตูทางเข้าหน้าบ้านแต่ฝุ่นผงจะสะสมอยู่ที่รางได้ง่าย และรางเลื่อนบนที่นิยมใช้กั้นพื้นที่แต่ละส่วนภายในบ้านเพราะไม่มีร่องรางที่พื้นช่วยลดโอกาสการสะดุดได้ นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบปิด-เปิดอัตโนมัติได้กับประตูรูปแบบนี้ได้ ซึ่งนิยมใช้กับห้างสรรพสินค้าเพื่อช่วยลดคนที่คอยปิด-เปิดประตูขณะลูกค้าจะเข้า-ออก
รูปแบบการใช้งานหน้าต่าง
- หน้าต่างบานเปิด เป็นลักษณะเปิดออก ขณะเปิดจะรับแสงรับลมได้เต็มที่แต่จะกินพื้นที่ด้านนอกที่บานหน้าต่างเปิดออกไป จึงควรติดตั้งหน้าต่างรูปแบบนี้ในบริเวณที่ไม่กีดขวางทางเดินหรือเป็นบริเวณที่ต้องมีคนเดินผ่านเป็นประจำ เช่น บริเวณชั้นสองของบ้าน หน้าต่างบานเปิดแบ่งได้ 2 รูปแบบ
1.1 หน้าต่างที่ใช้บานพับแบบธรรมดา จะเปิดออกได้กว้างถึง 180 องศา ต้องทำขอยึดไว้เพื่อกันลมตี
1.2 หน้าต่างบานเปิดแบบค้างโดยไม่ต้องใช้ตัวล็อค (บานพับแบบวิทโก้) เป็นหน้าต่างที่เปิด-ปิดไปในทิศทางเดียวกัน และเปิดได้มากสุดที่ 90 องศา แต่ละบานจะมีตัวยึดอยู่ด้านบนและด้านล่าง มีความฝืดในตัวจึงไม่ต้องใช้ขอสับ
- หน้าต่างบานเลื่อน คล้ายกับประตูบานเลื่อนที่ขณะเลื่อนเปิดจะได้ช่องลมลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง มีข้อดีคือสามารถใช้ในบริเวณที่มีคนเดินผ่านไปมาได้ จึงใช้งานได้แทบทุกส่วนของบ้าน ไม่ว่าจะเป็น หน้าต่างที่เปิดรับบรรยากาศนอกบ้าน หรือใช้เป็นช่องส่งอาหารจากครัวมายังส่วนรับประทานอาหาร สิ่งสำคัญคือควรคำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก โดยเฉพาะหน้าต่างที่ติดกับภายนอกบ้านควรเลือกแบบที่มีตัวล็อคหรือระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา
- หน้าต่างบานยก (Slide-hung) คล้ายหน้าต่างบานเลื่อนแต่เป็นลักษณะยกบานขึ้นแล้วบิดอุปกรณ์ล็อคเพื่อเปิดค้างไว้และยกบานลงเพื่อปิด (คล้ายหน้าต่างรถไฟหรือรถโดยสารประจำทางแบบไม่ปรับอากาศในบ้านเรา) สามารถเปิดรับอากาศภายนอกได้ครึ่งหนึ่งของพื้นที่เต็ม รับแสงและชมวิวได้อย่างเต็มที่ เหมาะกับบ้านพักอาศัยและอาคารสูง
- หน้าต่างบานกระทุ้ง มีบานพับอยู่ด้านบนของบาน วิธีเปิดคือดันจากด้านล่างของบานออกไป ขณะที่เปิดจะกินพื้นที่ด้านที่เปิดออกจึงควรใช้ในบริเวณที่ห่างจากทางสัญจรของคนทั่วไปหรือใช้ในระดับเหนือศีรษะขึ้นไป ควรเลือกวงกบที่มีความแข็งแรงเพื่อรองรับน้ำหนักของบานหน้าต่าง ซึ่งตัวบานมีให้เลือกทั้งลูกฟักกระจกหรือบานทึบ ขณะเปิดอาจรับลมได้ไม่เต็มที่แต่ตัวบานที่เปิดนี้จะทำหน้าที่เป็นกันสาดในตัว หากเลือกบานทึบจะช่วยกันแสงแดดจากด้านบนอีกด้วย นอกจากบานกระทุ้งจะนิยมติดตั้งแบบต่อเนื่องกันเป็นจังหวะที่สวยงามแล้ว ยังเลือกติดตั้งบานเล็กๆ เป็นหน้าต่างห้องน้ำเพื่อการระบายอากาศที่ดีอีกด้วย
- หน้าต่างบานพลิก มีจุดศูนย์กลางการหมุนอยู่กลางบานหรือกลางวงกบ สามารถเปิดได้โดยการผลักให้บานพลิกไปมา มีทั้งพลิกแบบแนวตั้งและแนวนอน ขณะเปิดหน้าต่างจะรับลมได้เต็มที่ ทำความสะอาดง่าย ข้อดีของบานพลิกแบบพลิกขึ้นในแนวนอนคือทำหน้าที่เป็นเหมือนกันสาดที่กันได้ทั้งแดดและฝน ข้อเสียคือไม่สามารถติดมุ้งลวดเพื่อกันยุงหรือแมลงได้ และกินพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกอย่างละครึ่งบาน เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศภายนอกอย่างเต็มที่ แต่ไม่เหมาะสำหรับห้องส่วนตัวหรือห้องนอน
6. หน้าต่างบานเกล็ด หรือหน้าต่างแบบเกล็ดหมุน จะไม่กินพื้นที่ขณะเปิด ใช้สำหรับระบายอากาศ สามารถรับลมและแสงสว่างจากภายนอกเพียงแค่หมุนบานเกล็ดเท่านั้น ใช้ได้กับผนังที่ติดกับภายนอกอาคาร หรือผนังกั้นพื้นที่แต่ละส่วนภายในบ้านเพื่อการหมุนเวียนอากาศที่ดี แต่มีข้อควรคำนึงดังนี้
6.1 ขนาดบานไม่ควรกว้างมากนัก ไม่ว่าบานเกล็ดจะทำด้วยวัสดุไม้หรือกระจก เพราะจะเกิดการแอ่นตัว บิดงอ และแตกง่าย แต่ถ้าจะใช้วัสดุที่หนาขึ้น น้ำหนักก็จะมากตาม ซึ่งอาจทำให้อุปกรณ์ที่ใช้เปิดปิดทำงานหนักและเสียเร็ว
6.2. ความสามารถในการกันฝนของบานเกล็ดนั้นไม่ค่อยดีเพราะไม่มีบังใบ ขณะเปิดถ้าฝนสาดแรง น้ำฝนจะตีย้อนเข้ามาภายในบ้านได้ ซึ่งควรเตรียมรับมือหรือแก้โดยให้มีรอยซ้อนกันของเกล็ดให้มากๆ (ขณะฝนตกแนะนำให้ปิดบานเกล็ดให้สนิท)
6.3. ควรติดตั้งอุปกรณ์หรือระบบรักษาความปลอดภัย เพราะชุดอุปกรณ์บานเกล็ดสามารถถอดออกได้ง่าย ทั้งตัวเกล็ดและบานกรอบ
รูปแบบประตูและหน้าต่างมีหลากหลาย ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน จึงควรเลือกใช้ควรเลือกตามความเหมาะสมของการใช้งานและสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมถึงข้อจำกัดในบริเวณนั้นๆ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามความต้องการและได้ประโยชน์สูงสุด
ขอขอบคุณ
www.scghome.com
www.scg-smarthome.com
www.scgmortar.scg-towiwat.com
www.webplandee.com
www.taradwebsite.com