ห้องน้ำเป็นพื้นที่ที่ทุกคนในบ้านต้องใช้เป็นประจำทุกวัน ดังนั้นหากเกิดปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้และต้องพบเจอทุกครั้งที่ใช้งานคงเป็นเรื่องทุกข์ใจไม่น้อยเลย ที่สำคัญคือสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรืออาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพกายสุขภาพใจตามมา เราจึงรวบรวมปัญหาห้องน้ำที่พบได้บ่อย และบอกแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ลองนำไปใช้กัน
1. ปัญหาท่อน้ำระบายน้ำไม่ทัน
เป็นปัญหาที่พบบ่อยเวลาอาบน้ำ เนื่องจากการใช้ห้องน้ำทุกวัน ทำให้มีเส้นผม คราบสบู่ คราบไคลสะสม จนทำให้อุดตันรูระบายน้ำ น้ำไหลไม่สะดวก ท่อน้ำระบายน้ำได้ช้า เกิดน้ำขังทำให้พื้นห้องน้ำเป็นคราบสกปรก และส่งผลให้พื้นห้องน้ำลื่นเป็นอันตรายได้
วิธีแก้ไข: ท่อระบายน้ำที่พื้นห้องน้ำส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ขนาด 2 นิ้ว ส่วนขนาดของตะแกรง (Floor Drain) เลือกใช้ขนาดเท่าไหร่ก็ได้ ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลาย เช่น สี่เหลี่ยม วงกลม ทรงยาว ควรเลือก Floor Drain ที่มีฝาตะแกรงครอบ เพื่อดักสิ่งสกปรกไม่ให้ลงไปอุดตันในท่อได้ และหมั่นทำความสะอาด Floor Drain อยู่เสมออย่าให้มีเศษผมไปอุดตัน หาก Floor Drain สะอาดแล้วแต่น้ำยังระบายได้ช้าให้ใช้เบกกิ้งโซดาเทลงในท่อระบายน้ำ ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที แล้วค่อยล้างทำความสะอาดตามปกติ
2. ปัญหาน้ำขังนองที่พื้น
อาบน้ำแล้วน้ำไหลลงท่อไม่หมด เกิดเป็นน้ำขังน้ำนองที่พื้น สะสมอยู่ตลอดจนกลายเป็นคราบน้ำที่พื้นกระเบื้องยากต่อการทำความสะอาด มักเกิดจากพื้นห้องน้ำไม่ได้ปรับระดับลาดเอียงไปทางท่อระบายน้ำ
วิธีแก้ไข: กรณีนี้จำเป็นต้องสกัดพื้นกระเบื้องออกแล้วปรับระดับพื้นปูกระเบื้องให้มีความลาดเอียงไปที่ท่อระบายน้ำ
3. ปัญหาพื้นลื่นเมื่อเปียกน้ำ
กระเบื้องบางรุ่นไม่เหมาะกับการปูพื้นห้องน้ำถึงแม้จะมีความสวยงาม แต่เวลาเปียกน้ำจะลื่นมาก อาจก่อให้เกิดอันตรายลื่นล้มได้ หรือถึงแม้เลือกใช้กระเบื้องปูพื้นห้องน้ำที่มีค่าการกันลื่นสูง แต่ปล่อยให้มีคราบสบู่ คราบไคลเกาะที่ผิวกระเบื้องก็เป็นสาเหตุให้พื้นห้องน้ำลื่นได้
วิธีแก้ไข: หากต้องการรื้อกระเบื้องพื้นเปลี่ยนใหม่ในการเลือกซื้อกระเบื้องควรเน้นย้ำให้ใช้กระเบื้องปูพื้นห้องน้ำโดยเฉพาะ หรือเลือกกระเบื้องที่มีค่า R (ค่ากันลื่น) R10 ปูพื้นห้องน้ำโซนแห้ง และ R11 ปูพื้นห้องน้ำโซนเปียก และควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ หากยังไม่ต้องการรื้อกระเบื้องพื้นเปลี่ยนใหม่ สามารถแก้ไขได้โดยเร็วด้วยการปูแผ่นยางรองกันลื่นสำหรับห้องน้ำ หรือติดเทปกันลื่นในโซนเปียกก็ได้
4. ปัญหาห้องน้ำมีกลิ่น
กลิ่นในห้องน้ำเป็นเรื่องจุกจิกที่ชวนปวดหัว เพราะมีหลายสาเหตุซึ่งต้องแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ดังนี้
ปัญหากลิ่นอับชื้น: เกิดจากการระบายอากาศที่ไม่เพียงพอไม่ถูกสุขลักษณะ ส่งผลให้เกิดกลิ่นอับ และอาจทำให้เกิดเชื้อราที่ฝ้าที่ผนังตามมาด้วย
วิธีแก้ไข: เพิ่มช่องแสงหรือช่องหน้าต่าง ให้แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อโรค และช่วยให้อากาศภายในห้องน้ำหมุนเวียนได้ หากไม่สามารถทำหน้าต่างได้ ควรติดพัดลมระบายอากาศช่วยดูดระบายกลิ่นอับชื้น โดยเฉพาะกรณีห้องน้ำที่อยู่กลางบ้าน ไม่มีผนังติดกับภายนอกอาคาร ทั้งนี้ อาจแก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการนำถ่านไม้ใส่ตะกร้าวางแอบตามมุมอับจะช่วยดูดซับกลิ่นอับชื้นได้ หรือใช้ใบเตยสักกำมาขยำให้พอมีกลิ่น หรือใช้มะกรูดฝานสัก 3-4 ซีกไปจัดวาง จะช่วยกลบกลิ่นเหม็นอับได้
วิธีแก้ไข: ใช้เบกกิ้งโซดาผสมน้ำมะนาว เช็ดขัดตามซอกหลืบหรือบริเวณขอบด้านในของโถชักโครก และใช้น้ำเกลืออุ่นๆ เทลงในโถชักโครก ปล่อยทิ้งไว้ 10-15 นาที จะช่วยขจัดแบคทีเรียและลดคราบกลิ่นเหม็นได้
ปัญหากลิ่นเหม็นจากท่อระบายน้ำ: มักมาจากท่อน้ำทิ้งที่อ่างอาบน้ำ และท่อน้ำทิ้งที่พื้นทั้งในส่วนอาบน้ำ Shower รวมถึงพื้นที่ส่วนแห้ง ซึ่งมักใช้ท่อระบายน้ำใต้พื้นแบบตรง (ไม่ได้ต่อด้วย P-Trap หรือ U-Trap) จึงทำให้กลิ่นย้อนกลับเข้ามาตำแหน่งนี้ได้
วิธีแก้ไข: ห้องน้ำชั้นล่างควรติดตั้งท่อน้ำทิ้งที่มีตะแกรงกันกลิ่นโดยให้มีน้ำหล่อในถ้วยตลอด ส่วนใต้พื้นห้องน้ำชั้นบนควรติดตั้งท่อ P-Trap หรือ U-Trap เพื่อดักกลิ่น ซึ่งมีข้อดีที่ตรงส่วนโค้งของท่อ P-Trap หรือ U-Trap จะมีฝาเปิดระบายสิ่งอุดตันออกได้ด้วย
ปัญหาห้องน้ำมีกลิ่นสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทความ จบปัญหากลิ่นห้องน้ำกวนใจ แก้ไขได้ที่ต้นตอ
5. ปัญหายาแนวเสื่อมสภาพ
ห้องน้ำที่มีการใช้งานมายาวนาน ยาแนวจะเริ่มเสื่อมสภาพและมีการหลุดล่อน (ปกติยาแนวมีอายุการใช้งานประมาณ 5-8 ปี) การใช้น้ำยาล้างห้องน้ำที่แรงเกินไปมีค่าความเป็นกรดสูงก็ทำให้ยาแนวเสื่อมสภาพและหลุดล่อนได้เช่นกัน ซึ่งส่งผลให้น้ำซึมลงไปใต้กระเบื้องเกิดความชื้นหรือน้ำขังสะสมทำให้กระเบื้องหลุดล่อนตามไปด้วย หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นส่งผลต่อโครงสร้างพื้น เนื่องจากความชื้นสะสมในพื้นจะทำให้เหล็กโครงสร้างขึ้นสนิมและดันให้คอนกรีตใต้พื้นแตกกะเทาะ และทำให้เกิดปัญหาน้ำรั่วได้อีก
วิธีแก้ไข: ขูดยาแนวเดิมที่เสื่อมสภาพออกให้หมด แล้วทำความสะอาดร่องยาแนวโดยใช้การดูดฝุ่นหรือปัดกวาด พยายามให้ร่องยาแนวแห้งมากที่สุด อาจตรวจสอบความชื้นโดยใช้แผ่นพลาสติกปิดร่องยาแนว หากไม่มีไอน้ำเกาะแสดงว่าไม่มีความชื้นแล้ว จึงยาแนวกระเบื้องใหม่ได้
6. ปัญหากระเบื้องหลุดล่อน
อาจเกิดจากวิธีการติดตั้งกระเบื้องที่ไม่ถูกวิธีไม่ได้มาตรฐานจึงทำให้กระเบื้องหลุดล่อนได้ง่าย นอกจากนี้ ยาแนวที่เสื่อมสภาพแล้วก็มีผลทำให้กระเบื้องหลุดล่อนได้ด้วยเช่นกัน
วิธีแก้ไข: นำแผ่นกระเบื้องที่หลุดล่อนออก แล้วสกัดปูนกาว (กาวซีเมนต์) เดิมออกให้หมด เลือกใช้กาวซีเมนต์สำหรับงานซ่อมแซมปูกระเบื้องใหม่ โดยใช้เกรียงหวีปาดปูนกาวให้เป็นร่องทั้งที่พื้นและแผ่นกระเบื้องเพื่อให้มีแรงยึดเกาะได้ดีขึ้น
7. ปัญหาคราบขาวบนกระเบื้อง
เป็นปัญหาที่ต้องเผชิญแทบทุกบ้าน เกิดจากการความชื้นสะสมทำปฏิกิริยากับปูน ไม่ว่าจะเป็นยาแนวหรือปูนกาว จนเกิดเป็นคราบหินปูนเกาะที่พื้นผิวต่าง ๆ ในห้องน้ำ ทำให้ห้องน้ำดูสกปรกไม่น่าใช้งาน ซึ่งเมื่อคราบฝังลึกก็ยากที่จะล้างทำความสะอาด และอีกรูปแบบคือเป็นคราบด่างที่พื้นกระเบื้องตั้งแต่เข้าใช้งานครั้งแรกซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการเช็ดคราบกาวยาแนวไม่สะอาดดีพอ
วิธีแก้ไข: การขจัดคราบหินปูนสามารถทำได้หลายวิธี อาจใช้น้ำส้มสายชูผสมน้ำกรองในอัตราส่วนเท่ากันฉีดพ่นที่รอยคราบบนกระเบื้องและใช้ผ้าเช็ดออก หรือ ใช้น้ำมะนาวราดลงบนคราบทิ้งไว้สักครู่ แล้วใช้เปลือกมะนาวที่โรยด้วยเบกกิ้งโซดาขัดคราบออก หากเป็นคราบซีเมนต์หรือคราบปูนให้ใช้เบกกิ้งโซดา 4 ส่วน น้ำส้มสายชู 1 ส่วน ผสมให้เข้ากันแล้วเทลงบนคราบ ทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง แล้วขัดล้างห้องน้ำตามปกติ หรืออาจใช้น้ำยาขจัดคราบซีเมนต์โดยเฉพาะในการขัดล้างก็ได้ หรือเลือกใช้น้ำยาขจัดคราบปูนโดยเฉพาะตามวิธีการและขั้นตอนที่ผู้ผลิตแนะนำ
8. ปัญหาคราบขาวที่ก๊อกน้ำหรือฝักบัว
อีกจุดหนึ่งที่เป็นปัญหาบ่อยครั้ง บริเวณก๊อกน้ำ ฝักบัว หรือสายท่อน้ำสเตนเลส ซึ่งก็มักจะมีความหมองจากคราบไขมันเกาะติดอยู่ คราบด่างขาวที่ล้างทำความสะอาดยาก ทำให้ดูสกปรกอยู่ตลอดเวลา
วิธีแก้ไข: หมั่นทำความสะอาด โดยใช้ฟองน้ำชุบน้ำส้มสายชูแล้วขัดเบาๆ หรือใช้น้ำยาขัดอเนกประสงค์น้ำยาขัดอเนกประสงค์ก็ได้ นอกจากนี้ อาจเตรียมผ้าแห้งสำหรับเช็ดคราบน้ำหลังใช้งานทุกครั้งเพื่อให้ก๊อกน้ำดูใหม่สะอาดอยู่เสมอ ช่วยลดปัญหาคราบน้ำเกาะได้เป็นอย่างดี
9. ปัญหาก๊อกน้ำรั่วซึม
เมื่อใช้งานมาสักระยะนึงอาจพบว่ามีน้ำหยดหรือน้ำซึมจากก๊อกน้ำ ส่งผลให้เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าเปียกตลอดเวลา
วิธีแก้ไข: ถอดก๊อกน้ำออกมาตรวจสอบว่ารั่วที่จุดไหน (โดยปิด Stop Valve ก่อน) หากแหวนยางเสื่อมสภาพให้เปลี่ยนแหวนใหม่ยางที่มีขนาดและความหนาเท่ากันทดแทน แต่หากรั่วที่วาล์วเปิด-ปิดก๊อกน้ำ อาจต้องเปลี่ยนก๊อกน้ำใหม่ หากเป็นการรั่วซึมบริเวณจุดเชื่อมต่อสายน้ำดี ให้เปลี่ยนเทปพันเกลียวใหม่
10. แสงสว่างไม่เพียงพอ
หลายบ้านมักใช้ไฟดาวน์ไลท์ในห้องน้ำเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายสบายตา แต่ลักษณะของไฟดาวน์ไลท์จะให้ความสว่างกระจายตัวเป็นวงแคบ ทำให้แสงสว่างไม่เพียงพอต่อการใช้งาน อาจส่งผลให้เกิดอันตรายเดินพลาดเดินสะดุดลื่นล้มได้
วิธีแก้ไข: ง่ายที่สุดคือลองเปลี่ยนขนาดกำลังวัตต์ของหลอดไฟ และเลือกใช้แสงสีขาว (Cool White) เพื่อให้ได้แสงสว่างมากขึ้นหรืออาจเพิ่มแสงสว่างบริเวณที่ต้องใช้งาน เช่น บริเวณอ่างล้างหน้าที่ต้องใช้แต่งหน้า ทำผม ส่องกระจก อาจใช้โคมไฟติดผนัง โคมไฟตั้งพื้น หรือเลือกใช้กระจกเงาแต่งหน้าที่มีไฟแสงสว่างมาในตัวด้วยก็ได้
จัดเป็น 10 ปัญหาในห้องน้ำที่มักพบบ่อยในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลิ่นเหม็น กลิ่นอับในห้องน้ำ ยาแนวพื้นกระเบื้องหลุดล่อน น้ำรั่ว คราบสกปรกตามจุดต่าง ๆ พื้นห้องน้ำลื่น หรือแม้แต่เรื่องแสงสว่างที่ไม่เพียงพอ ซึ่งแต่ละคนอาจพบเจอปัญหามากน้อยไม่เท่ากัน รวมถึงมีวิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแตกต่างกันไป หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของบ้านหลายคนที่กำลังประสบปัญหาตามที่เล่ามาไม่มากก็น้อย
รวมปัญหาห้องน้ำ พบบ่อย แก้ไขได้ ห้องน้ำเป็นพื้นที่ที่ทุกคนในบ้านต้องใช้เป็นประจำทุกวัน ดังนั้นหากเกิดปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้และต้องพบเจอทุกครั้งที่ใช้งานคงเป็นเรื่องทุกข์ใจไม่น้อยเลย ที่สำคัญคือสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรืออาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพกายสุขภาพใจตามมา เราจึงรวบรวมปัญหาห้องน้ำที่พบได้บ่อย และบอกแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ลองนำไปใช้กัน