ผ้าใบคอนกรีต SCG กับงานคอนกรีตฉบับรวบรัด “ปรับ ปู ยึด รด”
ผ้าใบคอนกรีต SCG หรือ SCG Concrete Fabric เป็นวัสดุคอนกรีตแบบพิเศษ มีลักษณะเป็นผืน นำมาวางปรับรูปแบบตามต้องการ จากนั้นก็ทำการรดน้ำหรือแช่น้ำ เป็นเวลา 4 ชม. ผ้าใบคอนกรีตจะแข็งตัวและคงรูป สะดวกกว่าการเทหล่อคอนกรีตแบบทั่วไปที่ต้องตั้งไม้แบบ เทหล่อ รอคอนกรีตเซตตัว
ผ้าใบคอนกรีต SCG หน้าตาเป็นอย่างไร ?
ผ้าใบคอนกรีต SCG บรรจุเป็นม้วน ม้วนละ 1 แผ่น น้ำหนัก 60 กก. เมื่อคลี่ออกมาจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 5 ตารางเมตร หน้ากว้าง 1 เมตร ยาว 5 เมตร หนา 10 มิลลิเมตร 1 แผ่นปูได้ 3.84-4.00 ตารางเมตร (หักระยะซ้อนทับด้านละ 10 ซม.)
ผ้าใบคอนกรีต SCG มีคุณสมบัติอย่างไร ?
ผ้าใบคอนกรีต SCG ผลิตจากซีเมนต์และใยสังเคราะห์ แข็งแรงคงทน ทึบน้ำ ตามคุณสมบัติของปูนซีเมนต์ สามารถนำมาวางปรับเปลี่ยนขนาดและรูปแบบได้ตามต้องการ ใช้กรรไกรหรือเครื่องมือทั่วไปตัดได้ ติดตั้งสะดวกรวดเร็ว เพียงแค่ ปรับ ปู ยึด และรดน้ำ จากนั้นทิ้งไว้ 4 ชม. ผ้าใบคอนกรีตจะแข็งตัวพร้อมใช้งาน จากข้อมูลเบื้องต้นในโครงการที่ผ่านมาพบว่าการใช้ผ้าใบคอนกรีต SCG ประหยัดเวลาและแรงงานมากกว่าการหล่อคอนกรีตประมาณ 2-2.5 เท่า (ขึ้นอยู่กับการทำงานของช่าง) ทั้งยังช่วยลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะจากการก่อสร้าง และไม่ทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย
วิธีติดตั้งผ้าใบคอนกรีต SCG
- ขั้นตอนที่ 1 “ปรับ” : ปรับพื้นผิวในพื้นที่การใช้งานให้เรียบและแน่น สำหรับปูผ้าใบคอนกรีต
- ขั้นตอนที่ 2 “ปู” : ปูผ้าใบคอนกรีต โดยมีระยะซ้อนทับ 10 ซม. สามารถปรับเปลี่ยนจัดผ้าใบคอนกรีตให้เป็นไปตามรูปแบบตามพื้นผิวที่ต้องการ
- ขั้นตอนที่ 3 “ยึด” : ยึดผ้าใบคอนกรีตระหว่างกันด้วยปูนซีเมนต์ผสมน้ำ และหมุดหรือตะขอยึด
- ขั้นตอนที่ 4 “รด” : รดน้ำลงบนผ้าใบคอนกรีตให้ชุ่ม (ปริมาณน้ำ 5 ลิตร/ตร.ม.) รอระยะเวลาประมาณ 4 ชม. เพื่อให้ผ้าใบคอนกรีตเกิดการแข็งตัว
ทั้งนี้ ผ้าใบคอนกรีตมีคุณสมบัติทึบน้ำ แต่ไม่ถึงกับกันน้ำ 100% เนื่องจากบริเวณรอยต่ออาจเกิดการรั่วซึมได้ ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการรั่วซึมบริเวณรอยต่อ โดยเฉพาะงานกักเก็บน้ำ แนะนำให้บดอัดดินให้แน่นก่อนติดตั้งเพื่อลดการยุบตัว และเน้นเรื่องระยะซ้อนทับที่เพียงพอ (ไม่น้อยกว่า 10 ซม.) รวมถึงใช้ปูนซีเมนต์หรือกาวซีเมนต์ทาบริเวณรอยต่อเพื่อลดโอกาสรั่วซึม
ผ้าใบคอนกรีต SCG เหมาะกับงานแบบไหน ?
ผ้าใบคอนกรีต SCG เหมาะสำหรับใช้ทดแทนการดาดคอนกรีตในงานโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างเสริมความแข็งแรงของดิน การป้องกันการกัดเซาะของที่ลาดชัน การทำพื้นทางเดิน และด้วยคุณสมบัติป้องกันการซึมผ่านของน้ำ จึงเหมาะกับงานกักเก็บน้ำ การดาดคลอง ดาดสระน้ำ สร้างสระพวง บ่อกักเก็บน้ำ บ่อน้ำทางการเกษตร บ่อเลี้ยงปลา
ทั้งนี้ผ้าใบคอนกรีตไม่ได้เป็นส่วนโครงสร้างรับแรงโดยตรง แต่ทำหน้าที่ในการ “ถ่ายแรง” สู่พื้นดินด้านล่าง (Sub Base) ดังนั้น ความแข็งแรงของชิ้นงานผ้าใบคอนกรีต จะขึ้นอยู่กับพื้นดินด้านล่างด้วย
ผ้าใบคอนกรีต SCG ใช้ในงานตกแต่งได้ไหม ?
ด้วยคุณสมบัติของผ้าใบคอนกรีต SCG เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานตกแต่งบ้านหรือสถานที่ทั่วไปได้ เช่น
- สระน้ำ และบ่อปลา สามารถสร้างเป็นบ่อเลี้ยงปลาได้ โดยปรับสภาพน้ำก่อนการเลี้ยง เช่นเดียวกับการหล่อบ่อปลาด้วยคอนกรีตทั่วไป
- สร้างสรรค์งานตกแต่งแบบไม่ซ้ำใคร ด้วยคุณสมบัติของผ้าใบคอนกรีต ที่สามารถจัดรูปทรงได้ตามต้องการ จึงเหมาะกับงานที่สร้างสรรค์รูปทรงเฉพาะเช่น เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง ผนัง Free Form
ผ้าใบคอนกรีต SCG มีวิธีดูแลรักษาอย่างไร ?
- การดูแลรักษาก่อนติดตั้ง ผ้าใบคอนกรีต SCG กองเก็บได้ประมาณ 3 เดือน ควรเก็บในที่ร่มให้ห่างจากความชื้น (เช่นเดียวกับถุงปูนซีเมนต์) ห้ามวางซ้อนพาเลท และใน 1 พาเลทสามารถจัดวางผ้าใบคอนกรีตได้ไม่เกิน 5 ชั้น
- การดูแลรักษาหลังติดตั้ง ปกติแล้วผ้าใบคอนกรีต SCG ใช้งานได้ประมาณ 10 ปี (ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงมั่นคงของพื้นดินหรือ Subbase ที่รองรับ) หากเกิน 10 ปีแล้วพบว่าความสามารถกักเก็บน้ำเสื่อมลง หรือกรณีพื้นดินบางส่วนเกิดการทรุดตัว ก็สามารถรื้อเปลี่ยนใหม่ได้โดยถอนหมุดยึด แล้วยกตัวผ้าใบคอนกรีตเดิมออก เพื่อนำของใหม่มาติดตั้งแทน (ซึ่งง่ายกว่ามากเมื่อเทียบกับการรื้อถอนคอนกรีตหล่อ) หรือหากจะซ่อมแซมพื้นที่ขนาดเล็กก็ทำได้โดยใช้ลูกหมูตัดซ่อมเป็นจุดแล้วนำผ้าใบคอนกรีตชิ้นใหม่มาปู ยึดด้วยหมุด จากนั้นใช้ซีเมนต์ยาแนวรอยต่อให้เรียบร้อย