ต่อเติม หลังคาโรงรถ ให้สวย ปลอดภัย ไม่มีปัญหาภายหลัง 10 ข้อควรรู้
ต่อเติม หลังคาโรงรถ ให้สวย ปลอดภัย ไม่มีปัญหาภายหลัง 10 ข้อควรรู้ หลังคาโรงรถ หรือ กันสาด เป็นอีกฟังก์ชั่นที่ช่วยให้ใช้งานภายนอกบ้านได้คุ้มค่ามากขึ้น แต่ก่อนเริ่มติดต่อผู้รับเหมามืออาชีพมาจัดการให้ เจ้าของบ้านควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการต่อเติมหลังคาภายนอกตัวบ้านก่อน เพื่อให้สามารถเลือกใช้วัสดุของหลังคา และโครงสร้างอย่างเหมาะสม รวมทั้งข้อควรรู้เบื้องต้นอื่นๆ ก่อนการก่อสร้าง เพื่อให้ได้โรงรถที่สวยถูกใจ ปลอดภัย ไม่กระทบโครงสร้างของบ้าน และใช้งานได้ในระยะยาว
บ้านและสวน จะพามาดู “10 ข้อควรรู้ หากอยากต่อเติม หลังคาโรงรถ” พร้อมข้อควรระวัง หนทางการป้องกัน และการเลือกใช้วัสดุอย่างเหมาะสม ให้คำแนะนำโดย ROOVTECT ผู้เชี่ยวชาญงานต่อเติมภายนอก และ Roof Solution
1. วัตถุประสงค์การใช้งาน
สิ่งแรกก่อนจะเริ่มต่อเติมส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้าน ควรรู้ความต้องการของตัวเองให้แน่ชัดก่อน ว่าจะต่อเติมในส่วนนั้น เพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น หากอยากต่อเติมโรงรถ รถที่จะอยู่ในนั้น เป็นรถใช้ประจำหรือรถสะสม ในอนาคตจะใช้งานกี่คัน จะติดตั้ง EV Charger หรือไม่ อยากได้ความทึบ ความโปร่งขนาดไหน เหล่านี้เจ้าของบ้านควรหาคำตอบที่แน่ชัด ทั้งกับตัวเองและคนในครอบครัว เพื่อให้ได้การใช้งานที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด
2. โครงสร้างของบ้าน
เจ้าของบ้านควรมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับบ้านของตัวเอง ว่ามีโครงสร้างลักษณะใด คานแบบไหน เสาตั้งอยู่ตรงไหน ส่วนไหนสามารถรับแรงได้ และส่วนไหนที่ไม่สามารถรับแรงได้ ไม่ควรเชื่อผู้รับเหมา หรือผู้ต่อเติมร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งการจะรู้ได้ว่าบ้านของเรามีโครงสร้างเป็นแบบใด ผู้เชี่ยวชาญจาก ROOVTECT แนะนำวิธีการหาข้อมูลดังนี้
บ้านในโครงการ สามารถติดต่อเข้าไปยังบริการหลังการขายแล้วแจ้งว่าต้องการต่อเติมในส่วนไหน และขอแบบในตำแหน่งนั้นมาให้วิศวกรหรือผู้รับเหมาคำนวณโครงสร้างและการรับแรงอีกครั้งว่าสามารถต่อเติมได้หรือไม่
บ้านสร้างเอง ให้ดูจากพิมพ์เขียวแบบก่อสร้างที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างมี เพื่อนำมาดูสเปควัสดุ โครงสร้าง และรายละเอียดส่วนต่างๆ ของบ้าน ก่อนต่อเติม
บ้านมือสอง การจะได้แบบบ้านหรือพิมพ์เขียวมาเพื่อพิสูจน์โครงสร้างเดิมอาจจะเป็นเรื่องยาก สิ่งที่ ROOVTECT แนะนำคือ ให้ตั้งโครงสร้างแยกกับตัวบ้านเดิมไปเลย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
3. คำนึงถึงบริบทรอบด้านและข้อกฎหมาย
การต่อเติมรอบบ้าน แม้จะเป็นพื้นที่ของเราเอง แต่ก็อาจส่งผลกระทบกับเพื่อนบ้านรอบข้างได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง ถ้าเพื่อนบ้านเป็นคนชอบทำสวน ต้องการแสงแดดอย่างทั่วถึง การต่อเติมโครงสร้างทึบที่บดบังแสงแดดและลม จนทำให้ต้นไม้ของเพื่อนบ้านตาย ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาระหว่างกัน รวมทั้งเรื่องของกฎหมาย เช็คระยะร่นจากรั้วและทางสาธารณะว่าเหมาะสมและถูกต้องตามกฎเทศบัญญัติหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้หากมีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา และออกแบบอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ ก็จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้
4. สำรวจหน้างาน
เมื่อรู้ความต้องการ ฟังก์ชั่นที่ต้องการใช้ และบริบทรอบบ้านเรียบร้อย ขั้นตอนต่อมาคือติดต่อผู้รับเหมา เพื่อเข้ามาสำรวจหน้างานเพื่อดูว่าบริเวณนั้นเหมาะสมกับการต่อเติมหรือไม่อย่างไร โดยส่วนมากมักจะเริ่มจากวัดขนาดพื้นที่ สอบถามการใช้งานเจ้าของบ้าน และลงมือก่อสร้าง ซึ่งผู้รับเหมาแต่ละเจ้าก็จะมีรายละเอียดในการทำงานต่างกันไป อาจมีกระบวนการที่ไม่เหมือนกัน และไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว
5. ต่อเติมอย่างไรให้ถูกต้องและถูกใจ
การต่อเติมบ้านให้ถูกวิธีและเหมาะสมที่สุดคือการออกแบบส่วนต่อเติมให้แนบชิดกับบ้านเดิม แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้โครงสร้างส่วนต่อเติมแยกออกจากบ้านเดิมด้วย ทั้งเสาเข็ม ฐานราก เสา คาน และโครงสร้างหลังคา เมื่อส่วนต่อเติมทรุดลงไปในอนาคต จะได้ไม่ดึงโครงสร้างบ้านเดิมลงมาจนเกิดความเสียหาย
ออกแบบโดยสถาปนิก สำหรับการต่อเติมบ้าน หลายคนมักคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้สถาปนิก โดยเฉพาะการทำโรงรถที่ใช้พื้นที่น้อย และไม่มีความซับซ้อนทางการก่อสร้าง แต่ถ้าหากต้องการฟังก์ชั่นที่มาพร้อมความสวยงาม การมีสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแลการออกแบบ ไม่เพียงช่วยให้ได้พื้นที่ใช้งานตรงโจทย์ แต่สามารถสร้างความกลมกลืนไปกับตัวบ้าน ช่วยให้บ้านสวย น่าอยู่มากขึ้น และป้องกันปัญหาจากการต่อเติมที่จะตามมาภายหลัง
คำนวณโครงสร้างและวัสดุโดยวิศวกร เมื่อมีการออกแบบที่ดี โครงสร้างก็ต้องดีตามไปด้วย หลังจากสำรวจหน้างานแล้ว โดยทั่วไปผู้รับเหมาจะคำนวณราคาจากขนาด + จำนวนชิ้นส่วนโครงสร้าง + วัสดุ + ค่าแรง แล้วเสนอราคาให้เจ้าของบ้าน หากอยู่ในราคาที่ยอมรับได้ ก็ตกลงจ้างงาน หากไม่ได้ใช้บริษัทที่มีรับประกันหลังการขาย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นภายหลัง อาจกลายเป็นการต่อเติมที่ไม่รู้จักจบ
ดังนั้นการมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสำรวจและคำนวณโครงสร้างตั้งแต่แรก จะช่วยให้มั่นใจในเรื่องความแข็งแรงและความปลอดภัย โดยเฉพาะส่วนประกอบสำคัญที่ต้องคำนึงคือเสาเข็มและฐานราก ซึ่งทำหน้าที่รับน้ำหนักทั้งหมดของส่วนต่อเติม รวมถึงเตรียมรับมือกับระดับการทรุดตัวที่ต่างกันระหว่างตัวบ้านหลักและส่วนต่อเติมด้วย
6. ก่อสร้างหน้างาน กับ Knockdown ต่างกันอย่างไร
ก่อสร้างหน้างาน
– สำหรับวิธีการนี้ผู้รับเหมาจะนำช่างและวัสดุเข้าไปเตรียมก่อสร้างในพื้นที่เลย หากเป็นบ้านในโครงการเจ้าของจะต้องเช็คกับหมู่บ้านก่อนว่าช่างสามารถเข้าทำงานได้วันไหนเวลาใด และต้องเตรียมพื้นที่ทำงานให้กับช่างระหว่างการก่อสร้างด้วย
– ใช้เวลาก่อสร้างหลายวัน หากเป็นบ้านที่ใช้อยู่อาศัยเป็นปกติ เจ้าของบ้านอาจต้องหาเวลามาดูงานก่อสร้าง เพื่อความสบายใจทั้งในแง่ความปลอดภัยและความเสียหายอื่นๆ ระหว่างก่อสร้าง
– มลภาวะของฝุ่น และเสียงที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง
– หากเลือกใช้ผู้รับเหมาที่ขาดประสบการณ์ อาจเกิดปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน หรือล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด
– การรับประกันหลังจบงาน
Knockdown
– วิธีนี้จะเป็นการออกแบบโครงสร้างและวัสดุจากโรงงาน แล้วนำไปประกอบและติดตั้งที่หน้างาน
– เจ้าของบ้านได้แบบตามต้องการ เพราะการก่อสร้างในลักษณะนี้มักจะดำเนินงานโดยบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจะมี Project Reference ที่ผ่านมาให้ดูก่อน ลูกค้าสามารถเลือกแบบที่ชอบ แล้วเลือกส่วนประกอบที่ต้องการได้เอง เช่น ROOVTECT จะมีการสอบถามความต้องการของลูกค้าอย่างละเอียดโดยสถาปนิกของบริษัทก่อน แล้วจึงออกแบบมาให้ตรงกับฟังก์ชั่นที่ต้องการ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับการใช้งาน ทิศทางของแสงและลม รวมทั้งบริบทโดยรอบบ้าน ซึ่งสถาปนิกจะทำงานควบคู่ไปกับวิศวกรของบริษัท เพื่อให้แบบที่สถาปนิกออกแบบมา สามารถเกิดขึ้นได้จริง มีความแข็งแรง และตอบโจทย์การใช้งาน
– ส่วนประกอบและโครงสร้างได้มาตรฐาน เพราะผ่านการตรวจสอบจากโรงงานผลิตก่อนนำมาติดตั้ง
– ใช้เวลาติดตั้งน้อย ลดเวลาการทำงานของช่าง ลดข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย
– มีฝุ่นน้อย ลดเสียงรบกวนจากการก่อสร้าง
– เจ้าของบ้านสามารถใช้งานพื้นที่ต่อเติมได้ตามปกติ
– งานเรียบร้อย บ้านไม่ช้ำ ลดพลังงานในการเก็บกวาดหลังงาน
– มีรับประกันโครงสร้างและปัญหาหลังการติดตั้งจากบริษัทผู้ผลิต
7. หลังคาโรงรถควรเลือกใช้วัสดุแบบไหน
วัสดุสำหรับทำหลังคาโรงรถมีหลากหลาย การเลือกใช้งานจะต้องคำนึงถึงฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นอันดับแรก ทั้งสัดส่วนของพื้นที่เปิดโล่ง ทิศทางของแดดและลม ลักษณะของโครงสร้างว่าเป็นพื้นที่เปิดโล่งหรือปิดทึบ เพื่อป้องกันความร้อนและแสงที่สาดเข้ามา
วัสดุการทำหลังคา แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
วัสดุโปร่งแสง
ข้อดีคือ ช่วยเพิ่มความโปร่งโล่งให้พื้นที่ใต้หลังคา ทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะบ้านที่ในเมืองที่มีพื้นที่น้อย และต้องการต่อเติมเพื่อให้พื้นที่ให้งานเพิ่มเติม การนำวัสดุโปร่งแสงมาทำหลังตาจะช่วยลดความมืดทึบ ส่วนข้อเสีย คือ มองเห็นสิ่งสกปรกง่าย และต้องทำความสะอาดบ่อยๆ
ตัวอย่างวัสดุ
- หลังคาอะคริลิกโปร่งแสง (Shinkolite Acrylic) แผ่นโปร่งแสงที่ใสเหมือนกระจก แต่มีน้ำหนักเบา เนื้อเหนียว ไม่กรอบ-แตก ดัดโค้งได้ ช่วยกรองแสง และกันรังสียูวีได้มากกว่า 99% มีราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ แต่ใช้งานคงทน ทำความสะอาดง่าย
- หลังคาไฟเบอร์กลาส มีให้เลือกทั้งแบบเรียบและลอนลูกฟูก แบบสีใสและแบบขุ่น มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ดัดโค้งได้ มีแบบเคลือบฟิล์มกันรังสียูวีให้เลือกด้วย ข้อเสียคือเวลาฝนตกอาจเกิดเสียงรบกวนบ้าง และสีสันอาจซีดจางตามอายุการใช้งาน
- หลังคาพอลิคาร์บอเนต วัสดุอีกประเภทที่น้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ดัดโค้งได้ มีให้เลือกหลายเกรดตามความแข็งแรง มีแบบเคลือบผิวกันแสงยูวีให้เลือก คือ แบบลูกฟูก จะมีช่องว่างตรงกลางจึงควรปิดขอบให้ดี เพื่อป้องกันความชื้นสะสมภายในจนเกิดตะไคร่น้ำและคราบสกปรกที่ทำความสะอาดยาก
หลังคาพอลิคาร์บอเนตแบบตัน หรือ โพลีตัน ที่มีลักษณะเป็นเนื้อตันเรียบโปร่งแสงเหมือนกระจก ผลิตจากเมล็ดพลาสติก Virgin Grade 100% ใช้ในงานต่อเติม ตกแต่ง บ้าน อาคาร ที่พักอาศัย ทั้งในส่วน Outdoor และ Semi-Outdoor ที่ต้องการให้แสงสว่างส่องถึง ช่วยเพิ่มทั้งความสวยงาม และสร้างอัตลักษณ์โดดเด่นให้กับตัวบ้าน
หากสนใจหลังคาชนิดนี้ ดูข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ #หลังคาโพลีไลน์ (www.polylineroof.com) ผลิตจากเมล็ดพลาสติก Virgin Grade 100% ให้แผ่นหลังคาที่คงทน แข็งแรง มีอายุการใช้งานยาวนาน ผ่านกระบวนการผลิตจากโรงงานมาตรฐาน ISO9001:2015 Certified
#หลังคากระจกเป็นวัสดุดั้งเดิมสำหรับการทำหลังคาโปร่งแสง มีหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นกระจกธรรมดา กระจกสี หรือกระจกขุ่นพ่นทรายที่ให้แสงนวลตา แต่เมื่อเป็นกระจกแม้จะมีความแข็งแรงแต่ก็มีความเปราะด้วยเช่นกัน จึงต้องมีการเพิ่มคุณสมบัติลดการแตกเปราะด้วยการอบ Tempered หรือสอดฟิล์มนิรภัย Laminated ที่จะทำให้การใช้กระจกเป็นวัสดุมุงหลังคานั้นมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้น
วัสดุทึบแสง
ข้อดี ช่วยกรองแสง ทำให้พื้นที่ใต้หลังคาอุณหภูมิลดลง เหมาะกับพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้เกิดความร้อนหรือแสงแดดส่องถึง เช่น โรงจอดรถคลาสสิกที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ ข้อเสีย คือ มืดทึบ ทำให้พื้นที่ดูแคบลงและมีบรรยากาศอึดอัด และอาจต้องติดไฟส่องสว่างเพิ่มเติม
ตัวอย่างวัสดุ
หลังคาเมทัลชีต เป็นวัสดุทึบแสง แข็งแรง ติดตั้งง่าย ดัดโค้งได้ รอยต่อน้อย หากต้องการมุงหลังคาโปร่งแสงร่วมด้วยก็มีวัสดุโปร่งแสงที่มีลอนเข้ากับเมทัลชีตให้เลือกหลายประเภท แม้ตัววัสดุจะทำให้บ้านร้อนช่วงกลางวันและเสียงดังเวลาฝนตก แต่หากเลือกใช้หลังคาเมทัลชีตประเภทที่มาพร้อมฉนวนกันความร้อนในตัว ก็จะช่วยลดปัญหาความร้อนและเสียงได้
หลังคาไวนิล
ผลิตจากพลาสติก Polyvinyl Chloride คุณสมบัติทึบแสง กันรังสียูวี ช่วยซับเสียงได้ดีเมื่อฝนตก ข้อจำกัดคือมีสีให้เลือกไม่มากนัก และสีอาจดูหมองลงตามอายุการใช้งาน
วัสดุกึ่งโปร่ง
ข้อดี ยังยอมให้แสงส่องผ่าน แต่จะมองไม่ทะลุ ตอบโจทย์บ้านที่ไม่ชอบความมืดทึบจนอึดอัด แต่ก็ยังอยากมีความเป็นส่วนตัว
ตัวอย่างวัสดุ
แผ่นอะคริลิกกึ่งโปร่งแสงจาก #Shinkolite ลักษณะเป็นแผ่นสีขาว มีคุณสมบัติคล้าย Light Box ช่วยให้แสงส่องผ่านได้ แต่ไม่สามารถมองทะลุได้ รวมถึงจะช่วยลดทอนอุณหภูมิด้านล่างลงไปได้ถึง 10 องศาเซลเซียล เหมาะกับพื้นที่ไม่ใหญ่มาก ที่ต้องการความร่ม แต่ไม่ทึบจนเกินไป ข้อเสีย อาจไม่เหมาะกับส่วนซักล้างหรือพื้นที่เปียกชื้น เพราะจะทำให้เกิดตะไคร่น้ำและเชื้อราได้
8. ดูแลรักษาหลังคาวัสดุโปร่งแสงอย่างไรให้สวยงามคงทน
ด้วยความที่หลังคาโปร่งแสงสามารถมองทะลุได้ ทำให้ผูใช้งานจะต้องทำความสะอาดบ่อย เมื่อใช้ไปนานๆ คราบสกปรกอาจติดแน่นจนล้างไม่ออก วิธีที่จะช่วยให้สิ่งสกปรกน้อยลง และช่วยแก้ปัญหาเรื่องการดูแลรักษาวัสดุประเภทนี้ ROOVTECT ขอแนะนำ 2 วิธีคือ
ระยะสโลปหลังคาที่ถูกต้อง จะช่วยให้ง่ายในเรื่องการดูแลรักษา เพราะเมื่อฝนตกหรือฉีดล้างด้วยน้ำ เศษใบไม้และคราบต่างๆ จะไหลออกไปกับน้ำ การตั้งหลังคาที่ถูกต้องจะต้องมีระยะสโลปอย่างน้อย 5 องศา ทุกๆ 1 เมตร ด้านสโลปหัวกับท้ายจะต้องห่างกันที่ 8 เซนติเมตร จะทำให้น้ำไหลได้ดี ไม่ขังแล้วกลายเป็นคราบน้ำบนหลังคา
ติดระแนงพรางตา ปัจจุบันนิยมติดระแนงใต้หลังคาโปร่งแสง เพื่อให้แสงธรรมชาติยังลอดผ่านลงมาได้ ประโยชน์ของระแนง คือ ช่วยลดความร้อน ด้วยความที่เป็นวัสดุทึบแสง เมื่อติดตั้งเข้าไปจะช่วยลดปริมาณของแสง ซึ่งจะทำให้ความร้อนลดลงด้วย รวมทั้งจะช่วงพรางความสกปรกที่อยู่บนหลังคา เมื่อใช้งานหลังคาโปร่งแสงไปนานๆ คราบต่างๆ จะฝังแน่นมากขึ้น ระแนงก็จะช่วยบดบังสิ่งเหล่านี้ได้
ชมตัวอย่างวัสดุระแนงเพิ่มเติมได้ที่ aronmaterial.com
9. หลังคาโรงรถจำเป็นต้องมีรางน้ำฝนมั้ย
เมื่อมีหลังคาโรงรถเป็นส่วนต่อเติมนอกตัวบ้านแล้วยังจำเป็นจะต้องมีรางน้ำฝนไหม ผู้เชี่ยวชาญจาก ROOVTECT แนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องมี แต่หากพื้นที่นั้นส่งผลกระทบกับผู้อื่นก็อาจจำเป็นต้องติด เพื่อไม่ให้น้ำสาดไปยังบริเวณพื้นที่ของเพื่อนบ้าน รวมทั้งบ้านที่มีโรงรถอยู่หน้าบ้านที่ไม่สามารถติดตั้งหลังคาให้ปกคลุมรั้ว อาจจะต้องติดรางน้ำฝนเพื่อไม่ให้ตัวเปียกตอนลงไปเปิดประตูรั้ว แต่ถ้าใช้ประตูเป็นรีโมตก็ไม่จำเป็นต้องติดรางน้ำฝน
ซึ่งในข้อนี้ หากพื้นที่จอดรถของบ้านเป็นดินหรือหญ้า ถ้าไม่ติดรางน้ำฝน อาจทำให้พื้นที่รอบๆ ถูกน้ำเซาะได้ วิธีจัดการคือ ใช้การวางแลนด์สเคปเข้ามาช่วยป้องกันการเซาะและเพิ่มความสวยงาม การนำหินแม่น้ำมาจัดวางในส่วนที่ต้องรับน้ำฝนก็จะได้ทั้งความสวยงาม และป้องกันการกัดเซาะหน้าดินไปในตัว
10. ปัญหาจากทางบ้าน ที่มักมีปัญหาเรื่องช่าง และการต่อเติมผิดวิธี ROOVTECT มีข้อแนะนำอย่างไร
จากคอนเทนต์ #บ้านและสวนชวนคุย ปัญหาการต่อเติมโรงรถที่ชวนปวดหัวมากที่สุดจากผู้อ่าน พบว่าผู้อ่านประสบปัญหาใหญ่อยู่ 2 เรื่อง คือ ช่างขาดประสบการณ์ และรอยรั่วหลังการต่อเติม ซึ่ง ROOVTECT มีข้อแนะนำและวิธีแก้ไขมาฝากผู้อ่าน ดังนี้
อยรั่วระหว่างตัวบ้านหลังต่อเติม ปัญหานี้มักเกิดจากวัสดุยาแนวที่ใช้เชื่อมรอยต่อ ถ้าโครงสร้างเป็นเหล็ก ในประเทศไทยจะนิยมใช้วัสดุ 2 อย่างคือ กาวซิลิโคน และ กาวพียู
ข้อดีของซิลิโคน คือ อายุการใช้งานยาวนานประมาณ 5 ปีขึ้นไป แต่ข้อจำกัดคือ ถ้าเกิดการสั่นสะเทือนจะฉีกขาดได้ง่าย เช่น เมื่อมีลมพัดแรง หรือโครงสร้างสั่นสะเทือนมากๆ
ส่วน พียู จะยืดหยุ่นได้ดีกว่า แต่อายุการใช้งานสั้น ประมาณ 1 ปี จะเริ่มกรอบ และหลุดออกมา ทำให้น้ำรั่วซึมได้
นอกจากวัสดุ 2 ชนิดนี้ มีวัสดุอีกชนิดที่ทาง ROOVTECT เลือกใช้ เรียกว่ากาวยาแนวแบบไฮบริด (Hybrid Sealant) หรือ MS Polimer Sealant นำเข้าจากประเทศเนเธอแลนด์ กาวยาแนวชนิดนี้จะมีคุณสมบัติเด่นของกาวซิลิโคน และกาวโพลียูรีเทนรวมเข้าด้วยกัน ให้ทั้งความแข็งแรง สามารถทาสีทับได้ ยืดหยุ่นดีกว่าซิลิโคน ทนทานต่อรังสียูวี จึงป้องกันการรั่วซึมได้ดีกว่า
ซึ่งปัญหานี้ อาจจะต้องสำรวจดูว่าวัสดุที่ใช้เป็นยาแนวเป็นประเภทใด ผู้รับเหมาเลือกวัสดุเหมาะสมหรือไม่ และใช้ในปริมาณเท่าใด ถ้าน้อยเกินไป ก็จะไม่สามารถป้องกันการรั่วซึมของโครงสร้างได้
ช่างขาดประสบการณ์ อีกหนึ่งปัญหาน่าปวดหัวของคนที่ต่อเติมบ้าน คือเรื่องช่าง ซึ่งในฐานะผู้เชี่ยวชาญโซลูชั่นหลังคาที่ทำงานมาแล้วกว่า 4 หมื่นตารางเมตร พบว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้ คือ ราคา ลูกค้ามักจะถามค่าก่อสร้างเป็นตารางเมตร เมื่อเช็คราคาเทียบกับผู้รับเหมาเจ้าอื่นๆ แล้วมักจะเลือกเจ้าที่ราคาถูกที่สุด ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป เพราะราคาโครงสร้างต่างๆ ที่ขายในท้องตลาดมักจำหน่ายในราคาใกล้เคียงกัน การทำราคาได้ถูกกว่าเจ้าอื่นอาจมาจากการลดสเปควัสดุ รวมทั้งใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้อายุการใช้งานสั้นลง ทำให้ต้องซ่อมแซมอยู่เรื่อยๆ ยังไม่นับปัญหาเรื่องช่างเลือกใช้วัสดุไม่เหมาะสมกับฟังก์ชั่นการใช้งาน
ข้อแนะนำคือ เลือกใช้งานบริษัทที่มีมาตรฐาน และมีการรับประกันหลังการขายที่ดี เมื่อใดที่มีปัญหาหลังการต่อเติม จะได้มีการเข้าไปแก้ปัญหาได้ทันที
เหล่านี้คือ 10 ข้อควรรู้หากต้องการต่อเติมบ้าน ถ้าไม่อยากปวดหัวกับปัญหาที่อาจตามมาในภายหลัง
สำหรับใครที่กำลังมีไอเดียอยากใช้งานพื้นที่รอบบ้านให้เกิดประโยชน์มากขึ้น หรือต่อเติม หลังคาโรงรถ ให้สวยงาม คงทน เข้ากับตัวบ้าน และมีการรับประกันโครงสร้างยาวนานถึง 5 ปี ติดต่อขอคำปรึกษาจาก ROOVTECT ผู้เชี่ยวชาญโซลูชั่นหลังคา หรือนัดหมายเข้าไปสำรวจหน้างานก่อนได้ รายละเอียดดังนี้
ROOVTECT
โทร. 02-096-3464
www.roovtect.com/
https://www.facebook.com/roovtect
ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.baanlaesuan.com
ต่อเติม หลังคาโรงรถ ให้สวย ปลอดภัย ไม่มีปัญหาภายหลัง 10 ข้อควรรู้ หลังคาโรงรถ หรือ กันสาด เป็นอีกฟังก์ชั่นที่ช่วยให้ใช้งานภายนอกบ้านได้คุ้มค่ามากขึ้น แต่ก่อนเริ่มติดต่อผู้รับเหมามืออาชีพมาจัดการให้ เจ้าของบ้านควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการต่อเติมหลังคาภายนอกตัวบ้านก่อน เพื่อให้สามารถเลือกใช้วัสดุของหลังคา และโครงสร้างอย่างเหมาะสม รวมทั้งข้อควรรู้เบื้องต้นอื่นๆ ก่อนการก่อสร้าง เพื่อให้ได้โรงรถที่สวยถูกใจ ปลอดภัย ไม่กระทบโครงสร้างของบ้าน และใช้งานได้ในระยะยาว