ข้อชวนคิดพิจารณาก่อนต่อเติมบ้าน
ข้อชวนคิดพิจารณาก่อนต่อเติมบ้าน ในการต่อเติมบ้าน หลักๆ จะต้องคำนึงเรื่องพื้นที่ใช้สอยและน้ำหนักส่วนต่อเติม ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาเลือกใช้รูปแบบโครงสร้างให้เหมาะกับการใช้งานและสัมพันธ์งบประมาณ
การต่อเติมบ้าน ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการรีโนเวทหรือปรับปรุงบ้าน ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้สะดวกสบายและลงตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมพื้นที่โล่งที่มีเพียงแค่พื้นกับหลังคา อย่างลานจอดรถ ลานซักล้าง หรือจะต่อเติมเป็นห้องโดยทำผนังโปร่งหรือทึบผนังตามความเหมาะสมในการใช้งาน ทั้งนี้ก่อนจะต่อเติมทุกครั้งเราควรพิจารณาปัจจัยหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “โครงสร้าง” ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการรับน้ำหนักและอัตราการทรุดตัวของส่วนต่อเติม
ต่อเติมบ้านต้องแยกโครงสร้างเสมอ
การต่อเติมทุกครั้ง ควรแยกโครงสร้างออกจากโครงสร้างบ้านเดิมโดยเด็ดขาด เนื่องจากโครงสร้างของบ้านเดิมจะถูกออกแบบมาเพื่อรับน้ำหนักของตัวบ้านนั้นโดยเฉพาะเท่านั้น ส่วนต่อเติมจึงควรออกแบบโครงสร้างให้รับน้ำหนักเฉพาะสำหรับส่วนต่อเติมด้วยเช่นกัน หากเชื่อมส่วนต่อเติมเข้ากับโครงสร้างบ้าน หรือเชื่อมติดกันเป็นบางส่วน จะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างบ้านเดิม ยิ่งถ้าส่วนต่อเติมทรุดตัวต่างกับบ้าน จะดึงรั้งทำให้โครงสร้างบ้านเดิมเสียหายได้ง่าย (แม้จะเป็นการต่อเติมบ้านขึ้นมาอีกหลังซึ่งลงโครงสร้างเหมือนกับบ้านเดิม ก็ควรแยกโครงสร้างต่างหาก จะให้ดี แนะนำให้สร้างแยกกันและทำทางเชื่อมระหว่างตัวบ้านจะดีกว่า เพื่อลดปัญหารอยต่อระหว่างส่วนต่อเติมที่อาจทำให้เกิดการรั่วซึมได้)
ส่วนต่อเติมทรุดตัวเป็นเรื่องธรรมดา
ต้องยอมรับว่า การทรุดตัวของส่วนต่อเติมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ โดยเราจะยอมให้ทรุดตัวได้มากหรือน้อยนั้น ควรพิจารณาเรื่องวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนต่อเติมบางส่วนเราอยากให้ทรุดน้อยที่สุดหรือแทบไม่ทรุดเพราะอยู่ต่อเนื่องกับพื้นที่ภายในบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น เป็นต้น ส่วนบางพื้นที่เราอาจยอมให้ทรุดตัวได้ตามปกติ อย่างพื้นที่ใช้สอยภายนอกที่มีเฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ใช้สอยน้อย เคลื่อนย้ายง่าย เช่น ลานซักล้าง พื้นที่นั่งเล่น โรงจอดรถ เป็นต้น
ทรุดตัวมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและสภาพดิน
ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ส่วนต่อเติมทรุดตัวช้าหรือเร็วได้มาก ก็คือ “โครงสร้าง และสภาพดินที่รองรับส่วนต่อเติม ทั้งนี้ โครงสร้างของส่วนต่อเติมอาจเป็นเพียงพื้น ค.ส.ล. แบบที่ไม่มีเสาเข็ม (เช่น พื้นบนดิน พื้นบนคาน ที่ถ่ายน้ำหนักลงดินโดยตรง) หรือเป็นแบบมีเสาเข็ม ซึ่งอาจเป็นเสาเข็มสั้น หรือเสาเข็มยาว โดยเสาเข็มยิ่งมีจำนวนมากและความยาวมาก จะยิ่งชะลอการทรุดตัวได้ดี หากลงเสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็งในจำนวนที่เหมาะสม ส่วนต่อเติมจะทรุดตัวน้อยมากหรือแทบไม่ทรุดเลย
อีกปัจจัยที่มีผลต่อการทรุดตัวคือสภาพดิน แม้จะมีลงเสาเข็มที่จำนวนและความยาวเท่ากัน แต่หากสภาพดินต่างกัน ก็จะทรุดตัวต่างกันด้วย อย่างส่วนต่อเติมบนพื้นดินที่เพิ่งเกิดขึ้นจากการถมที่นา บ่อ บึง จะทรุดตัวง่ายกว่าส่วนต่อเติมที่อยู่บนพื้นดินซึ่งถมมานานหรือเป็นดินเหนียว สำหรับบางพื้นที่ซึ่งเป็นดินแข็งอยู่แล้ว เช่น บนภูเขา ส่วนต่อเติมอาจแทบไม่ทรุดตัวแม้ปราศจากเสาเข็ม โดยมีเพียงฐานรากรองรับพื้น หรือบางครั้งเป็นแค่พื้นบนดิน/พื้นบนคาน ก็ตาม
ลงเสาเข็มส่วนต่อเติมให้ลึกไปเลยดีหรือไม่ ?
ในความเป็นจริง การลงเสาส่วนต่อเติมให้ลึกอาจไม่ได้ตอบโจทย์ทุกกรณีเสมอไป เพราะโครงสร้างยิ่งมาก ย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ตามมา เราจึงควรพิจารณาการใช้งานกับอัตราการทรุดตามที่กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อความคุ้มค่าในการทำโครงสร้าง นอกจากนี้ อาจมีบางปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยให้ลงเสาเข็มลึกด้วย เช่น พื้นที่แคบจนไม่สามารถนำอุปกรณ์สำหรับลงเสาเข็มลึกเข้าไปได้ (หรือทำได้แต่ราคาแพงสูงจนไม่คุ้มค่า) หรือมีการฝังงานระบบใต้พื้นดินไว้จึงไม่สามารถลงเข็มได้ หากมีข้อจำกัดตรงนี้ อาจหาวิธีลดน้ำหนักส่วนต่อเติมเพื่อช่วยชะลอการทรุดตัวแทน เช่น เลือกวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ลดการวางเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่จำเป็น และพยายามกระจายน้ำหนักให้ทั่ว ไม่วางของหนักกระจุกไว้ฝั่งใดฝั่งหนึ่
จะเห็นว่าระบบโครงสร้างที่เหมาะกับการใช้งานนั้น นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนลงมือต่อเติมบ้าน (ส่วนต่อเติมบางประเภท เช่น ครัว โรงรถ อาจต้องคำนึงเรื่องการเชื่อมต่องานระบบไฟฟ้า ประปาด้วย) นอกจากนี้ การต่อเติมจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคาร โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าง และระยะร่นรอบอาคาร ระยะห่างระหว่างผนัง/ช่องเปิด/ระเบียงกับแนวเขตที่ดิน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นรายละเอียดในข้อบทกฎหมายที่กำหนดไว้เพื่อให้ทุกคนอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยและไม่รบกวนเพื่อนบ้าน
ข้อชวนคิดพิจารณาก่อนต่อเติมบ้าน ในการต่อเติมบ้าน หลักๆ จะต้องคำนึงเรื่องพื้นที่ใช้สอยและน้ำหนักส่วนต่อเติม ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาเลือกใช้รูปแบบโครงสร้างให้เหมาะกับการใช้งานและสัมพันธ์งบประมาณ