Site icon scg-towiwat.com

เลือกปั๊มน้ำในบ้านอย่างไร ให้เหมาะและดี

เลือกปั๊มน้ำในบ้านอย่างไร ให้เหมาะและดี

เลือกปั๊มน้ำในบ้านอย่างไร ให้เหมาะและดี

เลือกปั๊มน้ำในบ้านอย่างไร ให้เหมาะและดี แนะนำปั๊มน้ำแบบต่างๆ ที่เหมาะกับการใช้งานในบ้าน และวิธีการเลือกปั๊มน้ำโดยใช้หลักเกณฑ์อย่างง่ายเป็นแนวทางสำหรับเจ้าของบ้าน

ปั๊มน้ำในบ้านเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ควบคู่กับถังเก็บน้ำในบ้าน โดยเฉพาะบ้าน 2 ชั้น ขึ้นไปจะนิยมใช้กันมาก เพื่อเพิ่มแรงดันน้ำให้สม่ำเสมอ ทั้งนี้เจ้าของบ้านบางท่านอาจสงสัยว่า เราจำเป็นต้องมีปั๊มน้ำหรือไม่ และถ้าจำเป็นต้องมี เราจะมีวิธีเลือกอย่างไร วันนี้ SCG HOME จะพามาหาคำตอบกัน

 

ความสำคัญของปั๊มน้ำในบ้าน

ตามปกติต่อให้ไม่มีปั๊มน้ำในบ้าน ในท่อประปาก็พอจะมีแรงดันจ่ายน้ำในบ้านพักอาศัยไปถึง 2 ชั้นได้บ้าง แต่ถ้าในบ้านมีการเปิดน้ำพร้อมๆ กันหลายจุด ความดันอาจไม่คงที่จนทำให้น้ำบางจุดไหลอ่อนแรง ดังนั้น ปั๊มน้ำในบ้านจึงมีบทบาทสำคัญต่อการลำเลียงน้ำจากถังเก็บน้ำ โดยเพิ่มแรงดันจ่ายน้ำไปยังก๊อกหรือฝักบัวจุดต่างๆ ทำให้เราสามารถใช้น้ำในบ้านพร้อมกันได้สบาย ไม่ไหลอ่อนจนหงุดหงิดรำคาญใจ โดยปั๊มน้ำสำหรับน้ำใช้ในบ้านทั่วไปที่เราจะยกมาพูดถึงกันในครั้งนี้ มีอยู่ 4 ชนิด คือ ปั๊มน้ำแบบถังแรงดัน ปั๊มน้ำแบบแรงดันคงที่ ปั๊มน้ำแบบอินเวอร์เตอร์ และปั๊มน้ำแบบเทอร์ไบน์

ภาพ: ตำแหน่งปั๊มน้ำของระบบจ่ายน้ำประปาในบ้าน
ภาพ: ปั๊มน้ำในบ้านที่ต่อเข้ากับถังเก็บน้ำ

ปั๊มน้ำในบ้านชนิดที่ 1 : ปั๊มน้ำแบบถังแรงดัน

หรือที่เรียกกันว่า “ปั๊มน้ำถังกลม” มีลักษณะเป็นทรงกระบอก ทำงานโดยให้น้ำไปแทนที่อากาศในถังแรงดัน เพื่อใช้แรงดันของอากาศดันน้ำออกไป เป็นปั๊มยอดนิยมที่มีมานานก่อนแบบอื่นๆ โครงสร้างไม่ซับซ้อน ติดตั้งดูแลรักษาง่าย ใช้งานได้นาน ให้แรงดันได้มากกว่าปั๊มน้ำแบบแรงดันคงที่ แต่มีข้อคำนึงคือ แรงดันน้ำที่ได้อาจไม่สม่ำเสมอ มีเสียงดัง และเมื่อใช้ไปได้สักระยะ ปริมาตรอากาศจะค่อย ๆ น้อยลง น้ำจะเข้าแทนที่ในถังแรงดัน ปั๊มจะทำงานตัดแบบถี่ ๆ (แต่ก็สามารถแก้ไขเองได้โดยทำการไล่อากาศใหม่ อ่านเพิ่มเติมที่นี่)) นอกจากนี้หากตัวถังเป็นเหล็กเมื่อใช้ไปนานๆ อาจเกิดสนิม แต่สามารถเปลี่ยนถังใหม่ได้ และในปัจจุบันก็มีแบบที่ตัวถังผลิตจากสเตนเลสแท้ ขึ้นรูปแบบไร้รอยต่อเชื่อมทำให้หมดปัญหาเรื่องสนิมและรั่วซึม ซึ่งทนทานกว่า แต่ราคาก็จะสูงกว่าปั๊มน้ำถังกลมธรรมดาด้วย

ภาพ: ตัวอย่างปั๊มน้ำแบบถังแรงดัน หรือปั๊มน้ำถังกลม ที่ตัวถังผลิตจากสเตนเลส (ขอบคุณภาพจาก www.toyobothailand.com)

ปั๊มน้ำในบ้านชนิดที่ 2 : ปั๊มน้ำแบบแรงดันคงที่

หรือที่เรียกกันว่า “ปั๊มน้ำถังเหลี่ยม” มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ทำงานโดยใช้ก๊าซไนโตรเจนอัดในกระบอกกลมเพื่อเพิ่มแรงดัน โดยมีถุงลมยางไดอะแฟรมคั่นระหว่างน้ำกับก๊าซไนโตรเจน ซึ่งจะให้แรงดันสม่ำเสมอคงที่มากกว่าถังแรงดันลมธรรมดา จึงทำให้น้ำจากก๊อก/ฝักบัวไหลเฉลี่ยเท่าๆ กันทุกจุดในบ้าน ช่วยแก้ปัญหาเปิดน้ำชั้นล่างแล้วน้ำชั้นบนไหลอ่อน รวมถึงช่วยรักษาอุณหภูมิเครื่องทำน้ำอุ่นให้คงที่ด้วย ตอบโจทย์บ้านที่ใช้น้ำพร้อมกันหลายจุด อุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกจึงไม่เป็นสนิม (แต่ไม่ควรตากแดด เพราะพลาสติกและยางจะเสื่อมเร็ว) ทั้งนี้ ปั๊มน้ำแบบแรงดันคงที่จะมีราคาสูงกว่าปั๊มน้ำแบบถังแรงดัน และในการใช้งานควรหมั่นตรวจสอบเป็นประจำเพราะลมไนโตรเจนอาจเกิดการรั่วซึมได้

ภาพ: ตัวอย่างปั๊มน้ำแบบแรงดันคงที่ หรือปั๊มน้ำถังเหลี่ยม

ปั๊มน้ำในบ้านชนิดที่ 3 : ปั๊มน้ำแบบอินเวอร์เตอร์

ปั๊มน้ำแบบอินเวอร์เตอร์จะคล้ายกับปั๊มถังเหลี่ยมคือให้แรงดันคงที่ แต่เพิ่มคุณสมบัติระบบอินเวอร์เตอร์ที่สามารถปรับรอบมอเตอร์ให้พอดีกับการใช้งาน โดยอินเวอร์เตอร์จะคอยควบคุมการหมุนของมอเตอร์ตามการใช้น้ำจริง เมื่อใช้น้ำมากหรือใช้น้ำหลายจุด มอเตอร์จะหมุนเร็วขึ้นเพื่อให้ปั๊มน้ำจ่ายน้ำได้มากขึ้น เมื่อใช้น้ำน้อยมอเตอร์ก็จะหมุนช้าลง น้ำที่ได้จะไหลแรงสม่ำเสมอ สามารถปรับแรงดันได้ตามต้องการ เสียงเบาเหมือนปั๊มน้ำแบบแรงดันคงที่ธรรมดา และยังประหยัดไฟกว่าปั๊มน้ำชนิดอื่นด้วย แต่ราคาจะสูงกว่าปั๊มน้ำทั่วไป ประมาณ 2-3 เท่า และหากชำรุดจะต้องส่งศูนย์ซ่อมเท่านั้น

ภาพ: ตัวอย่างปั๊มน้ำแบบอินเวอร์เตอร์ (ขอบคุณภาพจาก www.mitsubishi-kyw.co.th)

ปั๊มน้ำในบ้านชนิดที่ 4 : ปั๊มน้ำแบบเทอร์ไบน์

ปั๊มเทอร์ไบน์ หรือที่เรียกว่า ปั๊มระบบใบพัด พัฒนามาจากปั๊มหอยโข่งที่ใช้ในการเกษตร เป็นระบบที่มีถังอัดอากาศเช่นเดียวกัน แต่จะใช้ใบพัดในการเพิ่มแรงดันน้ำ (แต่ละยี่ห้อจะมีลักษณะและจำนวนใบพัดแตกต่างกันไป) โดยมีเพลสเชอร์สวิตช์เป็นอุปกรณ์ควบคุมแรงดันน้ำให้เหมาะสม จึงให้ปริมาณน้ำที่มากขึ้น พลังน้ำแรง แรงดันน้ำคงที่ เหมาะสำหรับบ้านที่ใช้น้ำพร้อมกันหลายจุดโดยมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้แรงจ่ายน้ำสูงและสม่ำเสมอ เช่น ฝักบัวเรนชาวเวอร์ เครื่องทำน้ำอุ่น อ่าง Jacuzzi ฟลัชวาล์ว เป็นต้น ข้อดีอีกอย่างของปั๊มเทอร์ไบน์คือ เสียงเงียบ ตอบโจทย์บ้านชุมชนเมืองที่มีรั้วติดเพื่อนบ้านซึ่งต้องระวังเรื่องเสียงรบกวน

ภาพ: ตัวอย่างปั๊มน้ำแบบเทอร์ไบน์ หรือ ปั๊ม 2 ระบบใบพัด ซึ่งพัฒนามาจากปั๊มหอยโข่งที่ใช้ในการเกษตร (ขอบคุณภาพจาก www.toyobothailand.com)

จะเลือกปั๊มน้ำในบ้าน ควรดูอะไรบ้าง

ให้พิจารณาคุณสมบัติที่เหมาะกับการใช้งาน และขนาดหรือกำลังไฟฟ้าที่เราเรียกกันตามหน่วยคือ “วัตต์” ปั๊มน้ำแต่ละรุ่นจะมีให้เลือกหลายขนาดตามกำลังวัตต์ ซึ่งมีผลต่อระยะส่งและปริมาณน้ำ (ลิตร/นาที) ปั๊มกำลังวัตต์สูงย่อมให้แรงดันและปริมาณน้ำมาก จำนวนก็อกที่เปิดใช้น้ำพร้อมกันได้ก็จะมากตาม สำหรับบ้านทั่วไป (ที่ไม่ได้มีอุปกรณ์ซึ่งต้องใช้แรงจ่ายน้ำสูงเป็นพิเศษ) อาจดูคร่าวๆ ได้จากจำนวนชั้นและจำนวนจุดที่คาดว่าจะเปิดใช้น้ำพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น บ้านชั้นเดียวหากเปิดน้ำใช้พร้อมกัน 4 จุด อาจเลือก 150 วัตต์ แต่ถ้าเป็น 5 จุดอาจใช้ที่ 200 วัตต์ เป็นต้น ส่วนบ้านเดี่ยว 2 ชั้น หากเปิดน้ำใช้พร้อมกัน 5-6 จุด อาจเลือกเป็น 200- 250 วัตต์ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ผลิตปั๊มแต่ละรายมักมีตารางเทียบสำหรับเลือกขนาดปั๊มที่ลงรายละเอียดเฉพาะรุ่นมากขึ้น

ภาพ: ตัวอย่างตารางเทียบขนาดปั๊มน้ำแบบคร่าวๆ จากจำนวนชั้นและจุดใช้น้ำในบ้าน
ภาพ: ตัวอย่างตารางเทียบขนาดปั๊มน้ำโดย มิตซูบิชิ อิเล็คทริค

อย่างไรก็ตาม หากในบ้านมีการใช้อุปกรณ์ซึ่งต้องใช้แรงจ่ายน้ำสูงกว่าอุปกรณ์ทั่วไป อาจต้องมีการพิจารณาอุปกรณ์เฉพาะเพิ่มเติมเพื่อความแม่นยำ แนะนำให้เจ้าของบ้านปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือช่างที่มีความรู้ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อปั๊มน้ำในบ้านที่เหมาะสม เพราะการใช้ปั๊มน้ำที่มีจำนวนวัตต์มากเกินไปอาจทำให้ท่อน้ำในบ้านแตกได้ หรือถ้าใช้ปั๊มน้ำที่มีจำนวนวัตต์น้อยเกินไปนอกจากน้ำจะไหลไม่แรงดังใจแล้ว ยังทำให้ปั๊มน้ำทำงานหนัก และเปลืองค่าไฟมากขึ้นอีกด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.toyobothailand.com

Exit mobile version