พื้นโรงรถทรุดแตกร้าวอย่าตกใจ ปรับปรุงใหม่ได้ให้ดูดี

พื้นโรงรถทรุดแตกร้าวอย่าตกใจ ปรับปรุงใหม่ได้ให้ดูดี

พื้นโรงรถทรุดแตกร้าวอย่าตกใจ ปรับปรุงใหม่ได้ให้ดูดี

เล่าถึงการปรับปรุงพื้นโรงรถทรุด แตกร้าว อันเนื่องมาจากปัญหาพื้นทรุดรอบบ้าน โดยรื้อพื้นเดิมออกแล้วหล่อใหม่พร้อมวัสดุตกแต่งปิดผิวแบบต่างๆ รวมถึงการใช้บล็อกปูพื้นแก้ปัญหาแทนกรณีที่พื้นยังคงทรุดตัวเร็วอยู่

บ้านที่สร้างมาบนพื้นดินที่ถมมาไม่นานพอ หรือเป็นบึงเป็นบ่อมาก่อน มักเจอปัญหาพื้นรอบบ้านทรุดซึ่งนอกจากทำให้เกิดโพรงได้บ้านแล้ว พื้นคอนกรีตรอบบ้านโดยเฉพาะพื้นโรงรถก็พากันทรุดแตกร้าวตามไปด้วย ปัญหานี้เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาและไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร (เพราะพื้นรอบบ้านทรุด ไม่ได้แปลว่าตัวบ้านจะทรุดตามไปด้วย) ส่วนการแก้ไขก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องทุบรื้อพื้นเดิมออกแล้วปรับหน้าดินให้ได้ระดับเหมาะสม ขั้นตอนต่อไปก็คือทำพื้นใหม่ ทีนี้พื้นใหม่ของเรา ควรจะทำแบบไหนดี จะหล่อพื้นแบบเดิมหรือไม่… ในส่วนนี้ให้พิจารณากันก่อนว่าพื้นรอบบ้านของเราจะยังทรุดตัวต่อมากน้อยแค่ไหน

พื้นโรงรถทรุดแตกร้าวอย่าตกใจ ปรับปรุงใหม่ได้ให้ดูดี
ภาพ: ตัวอย่างปัญหาพื้นรอบบ้านทรุด ซึ่งอาจทำให้พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างพื้นโรงรถทรุดแตกร้าวตามไปด้วยได้

แก้ปัญหาพื้นโรงรถทรุดแตกร้าว กรณีพื้นรอบบ้านทรุดไม่มาก

หากพื้นรอบบ้านทรุดน้อยกว่า 10 ซม. ภายใน 1 ปี เจ้าของบ้านอาจทำพื้นโรงรถใหม่โดยหล่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นอีกแทนที่พื้นของเดิมที่รื้อออกไป (หากต้องการชะลอการทรุดตัวให้ช้ายิ่งขึ้นไปอีก อาจลงเสาเข็มสั้นเพิ่มในลักษณะเสาเข็มปูพรมด้วย) โดยหลังจากหล่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กแล้ว สามารถตกแต่งพื้นผิวแบบต่างๆ ได้ตามต้องการ เช่น

 

• คอนกรีตพิมพ์ลาย (Stamped Concrete) เป็นการพิมพ์ลวดลายลงบนพื้นผิวคอนกรีต สามารถเลือกลาย/สีสันตามต้องการ (ลวดลายส่วนใหญ่มักเลียนแบบหินธรรมชาติ)

 

• ปูกระเบื้องคอนกรีต ตกแต่งพื้นผิวด้วยกระเบื้องคอนกรีตลวดลายต่างๆ ซึ่งให้ลุคคล้ายคอนกรีตพิมพ์ลาย

 

• ปูกระเบื้องเซรามิก แนะนำให้ใช้กระเบื้องที่มีความแข็งแกร่ง ทนทาน สามารถรับน้ำหนักรถได้ ยกตัวอย่างเช่น กระเบื้องประเภทพอร์ซเลน ซึ่งมีลวดลายให้เลือกหลากหลาย

พื้นโรงรถทรุดแตกร้าวอย่าตกใจ ปรับปรุงใหม่ได้ให้ดูดี
ภาพ: ตัวอย่างการทำพื้นคอนกรีตพิมพ์ลาย หรือ Stamped Concrete
พื้นโรงรถทรุดแตกร้าวอย่าตกใจ ปรับปรุงใหม่ได้ให้ดูดี
ภาพ: ตัวอย่างการใช้กระเบื้องคอนกรีตปูพื้น ซึ่งมีลวดลายคล้ายพื้นคอนกรีตพิมพ์ลาย
พื้นโรงรถทรุดแตกร้าวอย่าตกใจ ปรับปรุงใหม่ได้ให้ดูดี
ภาพ: ตัวอย่างการใช้กระเบื้องเกลซพอร์ซเลน เป็นกระเบื้องปูพื้นโรงรถ

แก้ปัญหาพื้นโรงรถทรุดแตกร้าว กรณีพื้นรอบบ้านทรุดในอัตราที่รวดเร็ว

หากพื้นรอบบ้านยังคงทรุดตัวตั้งแต่ 10 ซม. ขึ้นไปในระยะเวลา 1 ปี ถือว่ายังคงทรุดอย่างรวดเร็ว หากถ้าหล่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นใหม่ก็อาจเกิดการทรุดแตกร้าวขึ้นมาได้อีกในไม่ช้า ดูแล้วจะไม่ค่อยคุ้มค่าสักเท่าไหร่ อีกแนวทางที่ดูจะเหมาะกว่าคือใช้ “บล็อกปูพื้น” ซึ่งผลิตจากคอนกรีต มีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักรถได้ มีรูปทรงและสีสันลวดลายสำหรับสร้างแพทเทิร์นได้หลากหลาย หากเจ้าของบ้านนิยมชมชอบพื้นที่สีเขียว ก็ยังมีบล็อกสนามหญ้าให้เลือกใช้อีกด้วย

พื้นโรงรถทรุดแตกร้าวอย่าตกใจ ปรับปรุงใหม่ได้ให้ดูดี
ภาพ: ตัวอย่างการใช้บล็อกปูพื้น และ (ล่างซ้าย) บล็อกสนามหญ้า
พื้นโรงรถทรุดแตกร้าวอย่าตกใจ ปรับปรุงใหม่ได้ให้ดูดี
ภาพ: ตัวอย่างการติดตั้งบล็อกปูพื้น

บล็อกปูพื้นสามารถนำมาปูลงบนพื้นดินได้โดยตรง เพียงแค่ถมทรายและปรับระดับก่อนจะปูบล็อกตามขั้นตอนมาตรฐาน เมื่อใช้งานไปสักระยะจนพื้นรอบบ้านทรุดตัวอีกครั้ง ก็สามารถรื้อออกมาปูใหม่ได้ ทั้งนี้ การใช้บล็อกปูพื้นมีข้อคำนึงคือ ความหนาของบล็อกซึ่งส่วนใหญ่จะหนา 6-8 ซม. จึงต้องพิจารณาถึงระดับพื้นหลังจากที่ปูบล็อกให้อยู่ในระดับเหมาะสมด้วย

จะเห็นว่าการแก้ปัญหาโรงรถทรุด แตกร้าวนั้น ขั้นตอนแรกย่อมหนีไม่พ้นการรื้อพื้นเดิมออก แต่หลังจากนั้นจะใช้ทางเลือกไหน ให้พิจารณาอัตราการทรุดของพื้นรอบบ้านเป็นสำคัญ หากพื้นรอบบ้านทรุดตัวช้าลง ก็อาจหล่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กใหม่แล้วตกแต่งผิวพื้นตามใจชอบ ในทางกลับกัน หากพื้นยังคงทรุดตัวรวดเร็ว การใช้บล็อกปูพื้นซึ่งปูลงพื้นดินได้ และสามารถรื้อปูใหม่ได้เมื่อพื้นทรุดในอนาคต ก็อาจคุ้มค่ากว่า

 

ใส่ความเห็น

×