ถามตอบเรื่องเครื่องปรับอากาศ ฉบับแอร์บ้าน

ถามตอบเรื่องเครื่องปรับอากาศ ฉบับแอร์บ้าน

ถามตอบเรื่องเครื่องปรับอากาศ ฉบับแอร์บ้าน

ถามตอบเรื่องเครื่องปรับอากาศ ฉบับแอร์บ้าน ทบทวนความรู้เรื่องแอร์ฉบับเจ้าของบ้าน ผ่านบทสัมภาษณ์วิศวกร เพื่อให้เจ้าของบ้านเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงดูแลรักษาแอร์บ้านให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

รู้จักกับเครื่องปรับอากาศฉบับแอร์บ้าน ก่อนเลือกซื้อ

1) ส่วนประกอบหลักๆ ของแอร์ที่เจ้าของบ้านควรรู้มีอะไรบ้าง ?

A: แอร์บ้านทั่วไปจะมีส่วนประกอบหลักอยู่ 4 ส่วน ได้แก่

1.1) คอมเพรสเซอร์ (Compressor) ทำหน้าที่ดูดอัดสารทำความเย็น

1.2) คอนเดนเซอร์ (Condenser) หรือเรียกอีกอย่างว่ารังผึ้งคอยล์ร้อน ทำหน้าที่ระบายความร้อนออกจากสารทำความเย็น

1.3) แคปทิวบ์ (Capillary Tube) หรือ อิเล็กทรอนิกส์ เอ็กซ์แพนชั่น วาล์ว (Electronic Expansion Valve) หน้าที่ลดความดันของสารทำความเย็น

1.4) อีวาโพเรเตอร์ (Evaporator) หรือเรียกอีกอย่างว่ารังผึ้งคอยล์เย็น ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนความร้อนในห้อง กับสารทำความเย็น

2) ชุดคอยล์เย็นในแอร์บ้าน มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ?

A: ชุดคอยล์เย็นที่ถามมาประกอบไปด้วย Evaporator หรือรังผึ้งคอยล์เย็น, มอเตอร์พัดลม, โบลเวอร์กรงกระรอก, แผงคอนโทรล, เซนเซอร์, แผ่นฟอก, แผ่นกรอง และบอดี้หรือโครงเครื่อง

3) ลูกค้าซื้อแอร์พร้อมติดตั้ง อุปกรณ์ติดตั้งมาตรฐานที่แถมมีอะไรบ้าง ?

A: สำหรับแอร์ของ Mitsubishi Heavy Duty ชุดติดตั้งมาตรฐานที่มีให้คือ ท่อสารทำความเย็น (ทองแดงพร้อมฉนวน), สายไฟมาตรฐาน มอก., เบรกเกอร์มาตรฐาน, รางครอบท่อ , ขายางรองคอยล์ร้อน, ท่อน้ำทิ้ง PVC ขนาด 3/8” สีเทา ซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลจากผู้ขาย หรือดูรายละเอียดในหน้าเว็บไซต์สินค้าได้

4) Q: แอร์บ้านสามารถเดินท่อสารทำความเย็นได้ยาวสุดกี่เมตร ?

A: แอร์บ้านแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ ระยะท่อสารทำความเย็นที่สามารถเดินได้จะไม่เท่ากัน แต่สำหรับแอร์ Mitsubishi Heavy Duty สามารถเดินท่อสารทำความเย็นได้ยาวสุดถึง 30 ม. ในรุ่นอินเวอร์เตอร์ 24,000 บีทียู (การเดินท่อสารทำความเย็นได้ในระยะไกล จะช่วยในเรื่องตำแหน่งการจัดวางให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น ติดแอร์ห้องหน้าบ้าน แต่อยากเอาคอยล์ร้อนไปซ่อนหลังบ้าน เป็นต้น)

5) คอยล์ทองแดงกับคอยล์อะลูมิเนียมในแอร์บ้าน ต่างกันอย่างไร ?

A: คอยล์ทองแดงกับคอยล์อะลูมิเนียมในที่นี้หมายถึงท่อสารทำความเย็นบริเวณรังผึ้งคอยล์ร้อน ความแตกต่างจะอยู่ที่การดูแลรักษาและอายุการใช้งาน สมมติคอยล์เกิดรั่วและไม่มีอะไหล่ให้เปลี่ยน ถ้าเป็นคอยล์ทองแดง ช่างสามารถซ่อมอุดรอยรั่วด้วยวิธีการเชื่อมตามปกติได้ แต่ถ้าเป็นคอยล์อะลูมิเนียม การซ่อมจะต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษเพราะถ้าใช้ความร้อนไม่เหมาะสมจะยิ่งทำให้คอยล์รั่วหนักกว่าเดิม

6) แอร์รุ่นธรรมดา (Fix Speed) กับแอร์รุ่นอินเวอร์เตอร์ (Inverter) แตกต่างกันอย่างไร ?

A: แตกต่างกันที่โปรแกรมการทำงานของคอมเพรสเซอร์ เมื่อเริ่มทำงานแอร์อินเวอร์เตอร์จะค่อยๆ เพิ่มความเร็วรอบการทำงานของคอมเพรสเซอร์ตามที่ได้โปรแกรมไว้ เมื่ออุณหภูมิภายในห้องใกล้เคียงกับอุณหภูมิที่รีโมท คอมเพรสเซอร์จะค่อยๆ ลดความเร็วรอบการทำงานลงแต่ไม่ถึงกับตัดการทำงาน ช่วยให้ประหยัดไฟและสามารถควบคุมอุณหภูมิได้อย่างแม่นยำ (เหมาะกับห้องที่ต้องการอุณหภูมิคงที่) โดยระบบจะประมวลผลเองว่าคอมเพรสเซอร์ต้องทำงานที่ความเร็วรอบเท่าไหร่ ส่วนแอร์รุ่นธรรมดานั้น คอมเพรสเซอร์จะเริ่มต้นทำงานที่ความเร็วรอบสูงสุด จึงทำให้ใช้กระแสไฟฟ้าสูง และเมื่อทำอุณหภูมิภายในห้องต่ำกว่าที่รีโมท 1 องศา คอมเพรสเซอร์จะหยุดทำงานประมาณ 3 – 5นาที และจะเริ่มทำงานใหม่อีกครั้ง ช่วงที่หยุดการทำงานจะทำให้อุณหภูมิภายในห้องสูงขึ้น บางครั้งทำให้รู้สึกร้อน (แอร์ธรรมดาจะราคาถูกและกินไฟมากกว่าแอร์อินเวอร์เตอร์)

7) แอร์รุ่นใดประหยัดไฟ จะสามารถรู้ได้อย่างไร ?

A: สามารถดูได้ที่ฉลากเบอร์ 5 ถ้าแอร์รุ่นใดมีฉลากเบอร์ 5 แปะอยู่ แปลว่าแอร์รุ่นนั้นประหยัดไฟตามมาตรฐานของการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ฉลากเบอร์ 5 ของแอร์รุ่นใหม่ๆ จะมีดาวด้วย ดาวจะมีตั้งแต่ 1ดาว ถึง 3 ดาว ดาวยิ่งเยอะจะยิ่งประหยัดไฟมากขึ้น นอกจากดาวแล้ว อีกค่าที่บ่งบอกถึงความประหยัดไฟคือค่า SEER ที่อยู่บนฉลากเบอร์ 5 ตัวเลขยิ่งมากจะยิ่งประหยัดมาก

8) ฉลากเบอร์ 5 ที่ว่านี้ รับรองโดยหน่วยงานใด ?

A: ฉลากเบอร์ 5 ที่อยู่บนแอร์ทุกเครื่อง การไฟฟ้าแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ออกให้ ไม่สามารถจัดทำขึ้นมาเองได้ ถ้ามีบริษัทใดจัดทำขึ้นมาเอง มีความผิดถึงขั้นสั่งปิดโรงงาน

9) น้ำยาแอร์ R32 คืออะไร และมีข้อดีอย่างไร ?

A: ต้องขอชี้แจงก่อนว่า ในอดีตน้ำยาแอร์ที่ใช้กันจะเป็นน้ำยา R22 ซึ่งทำลายโอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ มีผลทำให้โลกร้อนขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้เป็นน้ำยา R410a ซึ่งมีค่าทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศเป็น 0 แต่ค่าที่ทำให้โลกร้อนยังสูงอยู่มาก ปัจจุบันก็เลยเปลี่ยนมาใช้น้ำยา R32 ซึ่งเป็นสารทำความเย็นที่ใช้อยู่ในแอร์รุ่นใหม่ๆ คุณสมบัติจะไม่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศและมีค่าที่ทำให้โลกร้อนน้อยมากๆ

10) เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแอร์ตัวไหนใช้น้ำยาอะไร และน้ำยาแอร์สามารถใช้แทนกันได้หรือไม่ ?

A: น้ำยาแอร์จะระบุไว้ที่ Name Plate ของเครื่อง และน้ำยาแอร์ต่างชนิดกันจะไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้ เนื่องจากผู้ผลิตจะออกแบบโครงสร้างขดลวดและซีลยางภายในของคอมเพรสเซอร์มาไม่เหมือนกัน จึงใช้ทดแทนกันไม่ได้

การเลือกขนาดเครื่องปรับอากาศ (สำหรับแอร์บ้าน)

11) การเลือกขนาดบีทียูของแอร์ให้เหมาะสมกับขนาดห้อง จะมีวิธีการเลือกอย่างไร ?

A: การเลือกขนาดของแอร์ให้เหมาะสมกับขนาดของห้อง จะต้องคำนึงถึงการใช้งานเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น ห้องรับแขก คนที่ใช้งานมีหลายคน มีการเปิดทีวี และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ อุปกรณ์เหล่านี้จะคายความร้อนอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องเลือกบีทียูของแอร์ที่สูงกว่าห้องนอนที่ขนาดเท่ากัน ยกตัวอย่างถ้าในตาราง ระบุว่า 9,000 บีทียู เหมาะกับห้องขนาด 9-12 ตารางเมตร หมายถึง ขนาดแอร์ 9,000 บีทียู เหมาะกับห้องรับแขกที่ขนาด 9-11 ตารางเมตร หรือห้องนอนที่ 11-12 ตารางเมตร เป็นต้น ทั้งนี้ เจ้าของบ้านอาจเช็คเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ Mitsubishi Heavy Duty Thailand ที่ลิงค์ https://mitsuheavythai.com/th/calculation.php จะมีโปรแกรมคำนวณตามรายละเอียดการใช้งาน ว่าเป็นห้องประเภทไหน บ้านแบบไหน เช่น บ้านเดี่ยว คอนโด หรืออาคารพาณิชย์ เป็นต้น)

12) ห้องนั่งเล่นที่มีลักษณะเปิดโล่งติดโถงบันได แอร์จะทำงานหนักกว่าห้องทั่วไปหรือไม่ ?

A: แอร์จะทำงานหนักกว่าห้องทั่วไป เนื่องจากพื้นที่เปิดโล่งเปรียบเสมือนการเพิ่มขนาดของห้อง ทำให้แอร์พยายามทำงานให้สัมพันธ์กับขนาดห้อง

13) ห้องที่มีขนาดใหญ่ ควรติดแอร์ตัวเดียวที่มีบีทียูเหมาะสมกับขนาดห้อง หรือติดแอร์ที่มีบีทียูลดลงครึ่งนึง จำนวน 2 ตัว ดี ?

A: สามารถเลือกได้ทั้ง 2 วิธี เพียงแต่ว่าถ้าเป็นกรณีที่ใช้แอร์ 2 ตัว ควรเปิดพร้อมกันทั้งสองตัว ไม่ควรเปิดเพียงตัวเดียวเพราะแอร์จะทำงานหนักจนเกินไป (วิธีนี้จะมีข้อดีถ้าหากแอร์ตัวใดตัวหนึ่งเสีย ก็ยังสามารถใช้แอร์อีกตัวได้)

14) เหตุใดตัวเลขขนาดบีทียูบนฉลากเบอร์ 5 กับตัวเลขที่อยู่ในตารางบีทียู จึงไม่เหมือนกัน เช่น ฉลากเบอร์ 5 ระบุว่า 12,276 บีทียู/ชั่วโมง แต่ในตารางระบุว่า 12,000 บีทียู/ชั่วโมง เป็นต้น ?

A: ตัวเลขที่ระบุบนฉลากเบอร์ 5 ของมิตซูบิชิ เฮฟวี่ ดิวตี้ (Mitsubishi Heavy Duty) ได้มาจากการทดสอบโดยการไฟฟ้า ซึ่งตัวเลขบีทียูที่ได้จะเป็นค่าที่ได้จากการทดสอบตามความเป็นจริงจะไม่มีการปัดเศษ ให้เป็นจำนวนเต็ม ในส่วนของตัวเลขที่อยู่ในตารางบีทียู เช่น 9,000 12,000 18,000และ 24,000 เป็นเพียงตัวเลขที่ได้มาจากการคำนวณของอเมริกาที่ใช้เรียกขนาดบีทียูเป็นตัน (1 ตัน = 12,000 บีทียู)

15) ห้องที่มีเพดานสูง 5 เมตร ควรติดแอร์ประเภทใด ?

A: อาจติดแอร์เพดานแบบแขวน แอร์ท่อลม แอร์แบบ 4 ทิศทาง แอร์ตู้ตั้ง หรือแอร์แบบติดผนัง (แต่ต้องติดต่ำลงมา) ที่แนะนำก็เป็นแอร์ประเภทตู้ตั้ง เพราะจะทำความเย็นในบริเวณที่ใช้งานจริงๆ

ปัญหาและการดูแลรักษาเครื่องปรับอากาศ ฉบับแอร์บ้าน

16) ปัญหาเปิดแอร์แล้วแอร์มีกลิ่นเหม็นอับ เกิดจากสาเหตุอะไร ?

A: อาจเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้

16.1) คอยล์เย็นสกปรก มีเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคทีเรียไปเติบโตในคอยล์ เนื่องจากไม่ได้ล้างแอร์เป็นเวลานาน

16.2) ปลายท่อน้ำทิ้งอยู่ใกล้บริเวณแหล่งน้ำทิ้ง เช่น คลอง หรือท่อระบายน้ำ ส่งผลให้กลิ่นไม่พึงประสงค์บางส่วนถูกดูดเข้ามาขณะแอร์ทำงาน แนะนำให้แก้ไขโดยการย้ายตำแหน่งท่อน้ำทิ้ง

16.3) เกิดกลิ่นจากสิ่งปฏิกูลของสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน

16.4) มีสัตว์เข้าไปตายอยู่ในคอยล์เย็น เช่น หนู จิ้งจก เป็นต้น

เสริม แอร์บางรุ่นมีความสามารถในการลดปัญหากลิ่นอับได้ เช่น แอร์ Mitsubishi Heavy Duty จะมีฟังก์ชั่น Self Clean Operation หรือเรียกสั้นๆ ว่า โหมดคลีน ซึ่งโหมดคลีนจะเริ่มทำงานหลังจากที่เราปิดแอร์แล้ว โดยใบพัดของพัดลมคอยล์เย็นจะทำงานในรอบต่ำ เพื่อไล่ความชื้นในคอยล์เย็นเป็นเวลา 2 ชม. ส่งผลให้คอยล์เย็นไม่มีความชื้น ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นเหม็นอับ (การทำงานในโหมดนี้กินไฟน้อยมาก จึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าไฟ แนะนำให้เปิดใช้โหมดคลีนอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเกิดกลิ่นเหม็นอับ แต่หากแอร์เริ่มมีกลิ่นแล้วควรล้างแอร์เพื่อทำความสะอาดคอยล์เย็น

17) ห้องที่มีความชื้นมากจะส่งผลเสียกับแอร์หรือไม่ และการเปิดแอร์จะช่วยกำจัดความชื้นได้ไหม ?

A: ห้องที่มีความชื้นมาก เช่น ห้องนอนที่ติดห้องน้ำ แอร์จะทำงานหนักกว่าห้องปกติ จึงควรปิดประตูห้องน้ำ เพื่อลดภาระการทำงานของแอร์ อย่างไรก็ดี หน้าที่ของแอร์คือ ทำความเย็นและควบคุมความชื้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบายตัว ก็ถือว่าช่วยได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้ สำหรับแอร์บางรุ่น เช่น แอร์ Inverter ของ Mitsubishi Heavy Duty จะมี Humidity Sensor ที่ทำหน้าที่ตรวจจับความชื้นภายในห้อง หากตรวจพบว่าภายในห้องมีความชื้นสูงเกินค่าที่กำหนดไว้ เครื่องจะคำนวณ และปรับการทำงานอัตโนมัติ เพื่อให้ค่าความชื้นลดลงอยู่ในค่าที่กำหนดไว้ เป็นสาเหตุให้บางครั้งผู้ใช้งานไม่สามารถปรับตำแหน่งบานสวิงได้ เนื่องจากแอร์กำลังทำงานอยู่ในกระบวนการการลดความชื้น

18) ปัญหาน้ำยาแอร์รั่วเกิดจากสาเหตุใด สามารถแก้ไขได้อย่างไร ?

A: ปัญหาน้ำยาแอร์รั่วเกิดได้ 2 สาเหตุ คือ

18.1) เกิดจากการติดตั้ง โดยมักจะพบการรั่วบริเวณจุดเชื่อมต่อท่อน้ำยาระหว่างคอยล์เย็น และคอยล์ร้อน หรือที่เรียกว่า แฟร์ อาจเกิดได้จากการบานท่อน้ำยาไม่ดี ขันแฟร์ไม่แน่น หรือขันแน่นจนเกินไปส่งผลให้แฟร์แตกและเกิดการรั่วซึม

18.2) เกิดจากสภาพแวดล้อม โดยมักพบปัญหาคอยล์รั่วกับบ้านที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ
ในการซ่อม ต้องเช็คหารอยรั่วและแก้ไขให้เรียบร้อยจึงค่อยเติมน้ำยาแอร์ เพราะถ้าเติมน้ำยาโดยที่ไม่ซ่อมจุดรั่ว น้ำยาแอร์ก็จะพร่องอีก

19) เจ้าของบ้านทั่วไป จะรู้ได้อย่างไรว่าเกิดปัญหาน้ำยาแอร์รั่ว ?

A: อาการที่แสดงออกมาคือ แอร์ไม่เย็น และมีน้ำหยด บางเคสอาจมีน้ำแข็งกระเด็นออกมาทางช่องส่งลม

20) ปัญหาแอร์ไม่เย็นและมีน้ำหยด นอกจากน้ำยาแอร์รั่วแล้ว มีสาเหตุอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ?

A: บางครั้งอาการนี้อาจเกิดจากแอร์สกปรกไม่ได้ล้างเป็นเวลานาน หรือมีสิ่งสกปรกไปอุดตันที่บริเวณท่อน้ำทิ้ง ทำให้ระบายได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรืออาจเกิดจากห้องที่มีความชื้นมาก เช่น ร้านเสริมสวย ที่มักจะพบปัญหาน้ำหยดหรือบางครั้งแอร์จะพ่นหมอกหรือไอน้ำออกมา

21) แอร์มีอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันฝุ่น PM 2.5 หรือไม่ ?

A: ถ้าเป็นแอร์ของMitsubishi Heavy Duty ก็จะมีแผ่นกรอง Nano Carbon Air Filter ซึ่งเป็นแผ่นกรองที่ใช้กรองฝุ่น PM 2.5 เจ้าของบ้านสามารถติดตั้งได้ด้วยตัวเอง และไม่ต้องกังวลว่า ติดแล้วจะไปขัดขวางแรงลมทำให้เพิ่มภาระการทำงานของแอร์ เพราะจากการทดสอบที่ทุกระดับความเร็วลม พบว่ามีผลเพียงเล็กน้อย ไม่ถึง 5% ซึ่งถือว่าไม่มีผลต่อการใช้งาน

22) เจ้าของบ้านควรดูแลรักษาแอร์อย่างไรบ้าง ?

A: แนะนำให้ใช้บริการช่างล้างแอร์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้แอร์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและไม่กินไฟจนเกินไป โดยระหว่างนั้นทุกๆ 1 เดือน แนะนำให้เจ้าของบ้านถอดเฉพาะแผ่นตะแกรงออกมาล้าง เพื่อช่วยลดภาระการทำงานของแอร์

ขอบคุณที่มาข้อมูล

ทีมวิศวกรแผนกเทคนิค จาก Mitsubishi Heavy Duty

โพสต์นี้มีความคิดเห็นเดียว

  1. ถามตอบเรื่องเครื่องปรับอากาศ ฉบับแอร์บ้าน ทบทวนความรู้เรื่องแอร์ฉบับเจ้าของบ้าน ผ่านบทสัมภาษณ์วิศวกร เพื่อให้เจ้าของบ้านเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงดูแลรักษาแอร์บ้านให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

ใส่ความเห็น

×