ตรวจระบบไฟฟ้าฉบับเจ้าของบ้าน 7 ข้อ เช็กระบบไฟบ้านใหม่ก่อนเข้าอยู่

ตรวจระบบไฟฟ้าฉบับเจ้าของบ้าน 7 ข้อ เช็กระบบไฟบ้านใหม่ก่อนเข้าอยู่

ตรวจระบบไฟฟ้าฉบับเจ้าของบ้าน 7 ข้อ เช็กระบบไฟบ้านใหม่ก่อนเข้าอยู่

ตรวจระบบไฟฟ้าฉบับเจ้าของบ้าน 7 ข้อ เช็กระบบไฟบ้านใหม่ก่อนเข้าอยู่ แนะนำวิธีตรวจระบบไฟฟ้าสำหรับเจ้าของบ้านที่กำลังจะเข้าอยู่หรือตรวจรับบ้านใหม่ และต้องการลงมือเช็กระบบไฟฟ้าเบื้องต้นด้วยตนเอง ทั้งตู้โหลด มิเตอร์ สายไฟ ปลั๊ก สวิตช์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการสังเกตไฟรั่ว

เมื่อพูดถึงระบบไฟฟ้าภายในบ้านทุกคนก็มักจะคิดว่าเป็นเรื่องยากและไกลตัว ทั้งจากตัวระบบเองที่มีความซับซ้อน ทั้งยังติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ตรวจสอบได้ค่อนข้างลำบาก ซึ่งหากขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้งานก็อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินได้ ทางเราจึงมีวิธีการตรวจระบบไฟฟ้าภายในบ้านเบื้องต้นมาแนะนำ เพื่อให้เจ้าของบ้านสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบก่อนเข้าอยู่อาศัยได้อย่างสบายใจหายห่วง โดยมีรายละเอียดในการเช็กระบบไฟฟ้าเป็นส่วนๆ ดังนี้

ตรวจระบบไฟฟ้าบ้านใหม่ ส่วนที่ 1: ตรวจเช็กตู้โหลดไฟฟ้า (Consumer Unit)

ตรวจสอบ “ขนาดของตู้โหลดไฟฟ้า” ว่าตรงตามในแบบหรือตามที่โครงการกำหนดหรือไม่ ภายในมีการเดินสายไฟเรียบร้อย ไม่มีรอยแตกของอุปกรณ์ และให้ลองกดทดสอบเครื่องตัดไฟว่าสามารถใช้งานได้จริง

ภาพ: ตัวอย่างการติดตั้งตู้ระบบไฟฟ้า (Consumer Unit) ในบ้าน

ส่วน “วงจรย่อยหรือเบรกเกอร์ย่อยในตู้โหลดไฟฟ้า” ควรมีการแยกวงจรย่อยในตู้โหลดไฟฟ้าตามประเภทของอุปกรณ์หรือการใช้งานหรือแยกตามชั้นของอาคารเพื่อให้ง่ายในการบำรุงรักษา เช่น วงจรแสงสว่าง วงจรปลั๊กไฟ วรจรเครื่องทำน้ำอุ่น วงจรเครื่องปรับอากาศ

ภาพ: ตัวอย่างการแยกวงจรย่อยภายในตู้โหลดไฟฟ้า

ตรวจระบบไฟฟ้าบ้านใหม่ ส่วนที่ 2 ตรวจเช็กมิเตอร์ไฟฟ้า

ตรวจสอบการติดตั้งว่าเรียบร้อยแน่นหนา อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่เอียงหรืออยู่สูงหรือต่ำเกินไป สายไฟที่ต่อเข้ามิเตอร์ทั้งเข้าและออก ไม่หย่อนหรือตึงจนเกินไป รวมถึงไม่ควรพาดผ่านต้นไม้ใหญ่หรืออยู่บริเวณที่ใช้งานเป็นประจำเพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้

ภาพ: ตัวอย่างมิเตอร์ไฟฟ้า

ตรวจระบบไฟฟ้าบ้านใหม่ส่วนที่ 3 ตรวจเช็กสายไฟ

ตรวจสอบการเดินสายไฟในตำแหน่งต่างๆ ให้เรียบร้อย สายไฟบริเวณเหนือฝ้าเพดานหรือใต้โถงหลังคาควรอยู่ในท่อร้อยสายไฟ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากหนูกัดแทะหรือหลังคารั่ว เป็นต้น ส่วนบริเวณผนังหากเป็นสายไฟเดินลอยตัวควรตีกิ๊บรัดสายไฟเป็นระยะเพื่อความเรียบร้อย สวยงาม

ภาพ: ตัวอย่างการติดตั้งท่อร้อยสายไฟบริเวณใต้พื้นชั้น 2

ตรวจระบบไฟฟ้าบ้านใหม่ส่วนที่ 4 ตรวจเช็กปลั๊กไฟ/ สายดิน

ตรวจสอบปลั๊กไฟว่าสามารถใช้งานได้ทุกจุด โดยอาจทดสอบจากการเสียบอุปกรณไฟฟ้าทุกจุดดู แต่เพื่อไม่ให้เสียเวลาแนะนำให้เจ้าของบ้านซื้ออุปกรณ์เช็กไฟ Easy Check Outlet เพื่อตรวจสอบว่าปลั๊กนั้นๆ เดินสายไฟถูกต้องหรือไม่

หรือหากเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องไฟฟ้าอยู่แล้ว และต้องการถอดหน้ากากปลั๊กออกมาเช็กสายไฟ ให้ทำการใช้ไขควง 4 แฉกเปิดหน้ากากหรือฝาครอบปลั๊กไฟทุกจุด หรือสุ่มดูว่ามีการเดินไฟครบ 3 เส้นหรือไม่ รวมถึงควรทำการตรวจสอบสายไฟแต่ละเส้นว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะหากสายไฟติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดการช็อต สร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าและเป็นอันตรายกับผู้ใช้งานอีกด้วย

  • ช่องด้านบนสุดจะต้องเป็นสาย L คือ รูที่ต่อกับสายไฟฟ้าที่มีไฟฟ้าวิ่งมาจากแหล่งจ่ายไฟหรือหม้อแปลงของการไฟฟ้า สายนี้จะมีศักย์ไฟฟ้าสูงก็คือ 220 โวลต์สำหรับไฟฟ้าในบ้านทั่วไป เมื่อตรวจสอบด้วยไขควงวัดไฟจะมีไฟติด

  • ช่องด้านล่างเป็นสาย N เป็นรูที่ต่อกับสายไฟฟ้าที่วิ่งกลับไปยังหม้อแปลงของการไฟฟ้าที่เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าให้เรา สายไฟเส้นนี้จะมีศักย์ต่ำ เมื่อตรวจสอบด้วยไขควงวัดไฟจะไม่มีไฟติด
  • ช่องด้านข้าง เป็นสาย G เป็นรูที่ต่อกับสายดินของอาคาร โดยสายดินจะต่อเข้ากับทุ่นโลหะที่ตอกลงไปในดินใต้อาคารตามมาตรฐานที่การไฟฟ้ากำหนด เมื่อตรวจสอบด้วยไขควงวัดไฟจะไม่มีไฟติด

ทั้งนี้ควรระมัดระวังความปลอดภัยระหว่างที่เข้าตรวจสอบด้วยนะคะ

ภาพ: ภาพตัวอย่างการตรวจสอบปลั๊กด้วยไขควงวัดไฟ

ตรวจระบบไฟฟ้าบ้านใหม่ส่วนที่ 5 ตรวจเช็กสวิตช์ไฟ/ ไฟฟ้าแสงสว่าง

ตรวจสอบโดยการเปิดสวิตช์ไฟทุกดวงภายในและภายนอกบ้าน ว่าสามารถใช้งานได้ดีทุกจุด ไม่ฝืดหรือค้าง ฝาครอบสวิตช์ต้องปิดสนิทไม่แตกร้าว ติดตั้งในจุดที่ไม่มีความชื้นและสูงพ้นจากระดับน้ำท่วมถึง

ตรวจระบบไฟฟ้าบ้านใหม่ส่วนที่ 6 ตรวจเช็กเครื่องใช้ไฟฟ้า

ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ติดตั้งไว้แล้ว เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น ว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติทุกชิ้น สามารถเปิดใช้งานพร้อมๆ กันได้ โดยไม่มีเหตุการณ์ไฟตกหรือไฟรั่ว

 

สำหรับบ้านไหนที่มีแผนติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นควรมีการเดินสายไฟและสายดินเอาไว้บริเวณห้องน้ำสำหรับติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นด้วย เพื่อความปลอดภัยในกรณีที่เจ้าของบ้านจะติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นในภายหลัง หรือในกรณีที่มีการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นภายในห้องน้ำมาให้แล้ว ให้ตรวจสอบว่าการเชื่อมต่อสายที่มีกระแสไฟเข้าสู่สาย L ของเครื่องและมีการติดตั้งสายดินของเครื่องเข้ากับสายดินของไฟฟ้าที่เดินในบ้านเรียบร้อยแล้ว

 

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำหรืออยู่ในบริเวณที่เปียกชื้นตลอดเวลา เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น ปั๊มน้ำ ควรมีสายดินต่อลงพื้นเพื่อความปลอดภัย

ตรวจระบบไฟฟ้าบ้านใหม่ส่วนที่ 7 ช็กไฟฟ้ารั่วภายในบ้าน

ปัญหาไฟฟ้ารั่วเป็นสิ่งที่สังเกตได้ยาก และอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของชีวิตในอนาคตได้หากไม่แก้ไขตั้งแต่ต้น จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เจ้าของบ้านควรให้ความสำคัญ

  • ตรวจสอบไฟรั่วโดยการสังเกตมิเตอร์ไฟฟ้า ปิดไฟและถอดปลั๊กอุปกรณ์ทั้งหมดภายในบ้าน สังเกตมิเตอร์ไฟว่าเฟืองหมุนปกติหรือไม่ หากหมุนแสดงว่ากระแสไฟรั่วควรเรียกช่างเข้าตรวจสอบและแก้ไข

  • ตรวจสอบไฟรั่วโดยใช้ไขควงเช็กไฟ แตะไขควงเช็กไฟลงบนอุปกรณ์ที่เสียบปลั๊กไว้ถ้า มีไฟขึ้นแสดงว่ามีกระแสไฟรั่ว หรืออาจเกิดจากการต่อไฟบริเวณปลั๊กไฟไม่ถูกตำแหน่ง ควรเรียกช่างเข้ามาตรวจสอบและแก้ไข

แนวทางการตรวจสอบระบบไฟฟ้าเบื้องต้นด้วยตนเองตามที่กล่าวมาแล้วนั้น นอกจากจะทำให้เรามีความเข้าใจในระบบไฟฟ้าของบ้านเราเองมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการเสริมความมั่นใจให้เจ้าของบ้านทุกท่านให้เข้าอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยไร้กังวลอีกด้วย

ใส่ความเห็น

×