ซื้อสินค้า โทร.02-5110240 | 081-4563232

ตรวจระบบไฟฟ้าฉบับเจ้าของบ้าน: 4 ข้อ เช็กระบบไฟบ้านเก่าเกิน 10 ปี

ตรวจระบบไฟฟ้าฉบับเจ้าของบ้าน

ตรวจระบบไฟฟ้าฉบับเจ้าของบ้าน: 4 ข้อ เช็กระบบไฟบ้านเก่าเกิน 10 ปี

ตรวจระบบไฟฟ้าฉบับเจ้าของบ้าน: 4 ข้อ เช็กระบบไฟบ้านเก่าเกิน 10 ปี แจกแจงวิธีตรวจเช็กระบบไฟบ้านที่มีอายุเกิน 10-15 ปี เพื่อความปลอดภัยในการอยู่อาศัย โดยให้เจ้าของบ้านสามารถตรวจระบบไฟฟ้าด้วยตัวเองทั้งส่วนของ มิเตอร์ เบรกเกอร์ สายไฟ ปลั๊ก สวิตช์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้

การตรวจระบบไฟฟ้าภายในบ้านเป็นเรื่องที่ทุกท่านควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากละเลย อาจเกิดอุบัติเหตุที่กระทบกับความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ของผู้ใช้งานและผู้อยู่อาศัยในบ้านโดยตรง เช่น ไฟดูด ไฟไหม้ โดยเฉพาะบ้านพักอาศัยที่มีอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไป สายไฟ ปลั๊กสวิตช์ ต่างๆ เสื่อมสภาพลงตามอายุการใช้งานและสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความร้อน ความชื้น หรือสัตว์แมลงกัดแทะ เราจึงควรหมั่นสังเกตตรวจเช็กระบบไฟบ้านด้วยวิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้ หากพบความผิดปกติจะได้ซ่อมแซมแก้ไขได้ทันท่วงที โดยใช้หลักการดังนี้

ตรวจระบบไฟฟ้าบ้านเก่าส่วนที่ 1 : เช็กมิเตอร์ไฟฟ้าและเบรกเกอร์ตัดไฟในตู้ไฟ

วิธีง่ายๆ ในการเช็กระบบไฟบ้านว่ามีกระแสไฟรั่วภายในบ้านหรือไม่นั้น ให้ทำการปิดระบบไฟฟ้าแสงสว่างทุกจุด รวมถึงปิดและถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านทั้งหมด และตรวจดูมิเตอร์ไฟฟ้าว่าทำงานหรือไม่ หากเฟืองมิเตอร์หมุนแสดงว่ามีจุดที่กระแสไฟฟ้ารั่วภายในบ้าน ณ จุดใดจุดหนึ่งซึ่งต้องตามช่างไฟให้มาตรวจเช็กแก้ไขด่วน ลำดับต่อไปทดสอบการทำงานของเบรกเกอร์ตัดไฟ ถ้าตัวใดมีปุ่ม T ให้กดบนปุ่ม หากสวิตช์หรือคันโยกสับลงมาทันทีนั่นแสดงว่าเบรกเกอร์ตัวนั้นยังใช้การได้ แต่หากสวิตช์หรือคันโยกนั้นไม่ทำงานควรเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญเข้าทำการตรวจสอบและหรือเปลี่ยนใหม่โดยเร็ว อีกทั้งควรตรวจสอบตู้เมนไฟฟ้าให้คงสภาพดีรวมถึงแน่ใจว่าไม่มีสัตว์ต่างๆ เข้าไปทำรังและก่อความเสียหายอีกด้วย

ตรวจระบบไฟฟ้าฉบับเจ้าของบ้าน
ภาพ: ตัวอย่างภาพประกอบเบรกเกอร์ตัดไฟและปุ่มทดสอบ

ตรวจระบบไฟฟ้าบ้านเก่าส่วนที่ 2 : เช็กสายไฟฟ้า และสายไฟของอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน

การเดินสายไฟฟ้าในบ้านพักอาศัยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ “แบบเดินลอย” (ตีกิ๊บเดินลอย) และเดินสายไฟ “แบบฝังผนัง” (ร้อยผ่านท่อสายไฟ) ซึ่งข้อแตกต่างคือ การเดินสายไฟแบบเดินลอย อายุการใช้งานของสายไฟจะสั้นกว่าแบบฝังผนัง เนื่องจากฉนวนหรือเปลือกที่หุ้มสายไฟส่วนใหญ่ทำมาจากพีวีซี ปกติจะมีอายุการใช้งาน 10-15 ปี แต่หากได้รับความเสียหาย เช่น โดนแดด ความร้อน ความชื้น อายุการใช้งานจะสั้งลงไม่เกิน 10 ปี สังเกตได้จากฉนวนหุ้มสายอาจเกิดสีซีดเหลือง มีความร้อนที่สาย ผิวฉนวนเยิ้มหรือกรอบ เปราะแตกได้ หรือมีสัตว์เช่น หนู กระรอก แมลงสาบ กัดแทะสายไฟจนฉนวนฉีกขาดถึงลวดทองแดงด้านใน อันจะเป็นสาเหตุให้กระแสไฟรั่วและเกิดอันตรายได้ ดังนั้นผู้อยู่อาศัยควรหมั่นตรวจสอบสภาพสายไฟรวมถึงสายที่ต่อจากอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดภายในบ้าน โดยหมั่นสังเกตสภาพสายไฟที่กล่าวมาข้างต้น หากพบกว่ามีสายไฟชำรุด ควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการเปลี่ยนสายไฟใหม่ทันที

ส่วนบ้านที่เดินไฟแบบฝังผนังร้อยผ่านท่อสายไฟนั้น จะมีอายุการใช้งานของสายไฟที่ยาวนานกว่าแบบเดินลอยและมีความปลอดภัยมากกว่า แต่หากเกิดความผิดปกติหรือกระแสไฟฟ้ารั่ว การตรวจสอบความเสียหายจะยากกว่าแบบเดินลอย จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจเช็กหาสาเหตุและซ่อมแซมแก้ไขต่อไป

ตรวจระบบไฟฟ้าฉบับเจ้าของบ้าน
ภาพ: ตัวอย่างภาพประกอบความเสียหายของสายไฟ และสายของอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ

ตรวจระบบไฟฟ้าบ้านเก่าส่วนที่ 3 : เช็กเต้ารับ-เต้าเสียบ และสวิตช์ไฟ

ควรหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์เต้ารับ-เต้าเสียบ สวิตช์ไฟ ให้คงสภาพดี มีกระแสไฟเข้าทุกจุดพร้อมใช้งานอยู่เสมอ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ต้องเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้าตลอดเวลา เช่น ตู้เย็น ปั๊มน้ำ เป็นต้น และสังเกตว่าอุปกรณ์เหล่านั้นมีรอยไหม้ คราบเขม่าดำ มีรอยแตกร้าว ใช้งานแล้วหลวมหรือไม่ รวมถึงหากเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้าแล้วพบว่ามักเกิดอาการสปาร์ก เกิดประกายไฟอยู่บ่อยครั้ง แสดงว่าเต้ารับเสื่อมสภาพซึ่งควรเปลี่ยนใหม่ทันที ส่วนสวิตช์ไฟให้สังเกตว่าเมื่อสัมผัสใช้งานแล้วมีความร้อนเกิดขึ้นสูงกว่าปกติหรือไม่ หรือมีอาการกดแล้วไฟไม่ติดต้องกดย้ำหรือมีอาการสปาร์ก แสดงว่ากระแสไฟฟ้าไหลผ่านไม่สะดวก อาจจะเกิดไฟฟ้าลัดวงจรทำให้เป็นอันตรายถึงขั้นไฟไหม้ได้เช่นกัน

ตรวจระบบไฟฟ้าฉบับเจ้าของบ้าน
ภาพ: ตัวอย่างภาพประกอบความเสียหายของเต้ารับ-เต้าเสียบ และสวิตช์ไฟ

ตรวจระบบไฟฟ้าบ้านเก่าส่วนที่ 4 : เช็กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้าน

ให้ตรวจดูสายไฟและปลั๊กเสียบว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี สายไม่มีการฉีกขาด ชำรุด กรอบ เปราะ แตก หรือร่องรอยสายไฟละลายจากความร้อนต่างๆ และหัวปลั๊กไม่มีคราบเขม่าไหม้หรือแตกหัก ขาหลวมคลอน เมื่อเปิดใช้งานให้ฟังเสียงว่ามีเสียงผิดปกติหรือไม่ และหากสงสัยว่ามีการรั่วของไฟฟ้าเกิดขึ้นสามารถทดสอบโดยใช้ไขควงทดสอบไฟแตะไปยังโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆ หากมีไฟขึ้นที่ไขควงแสดงว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่ว ควรปิดสวิตช์ ถอดปลั๊ก หยุดใช้งานเครื่องใช้นั้นทันทีและส่งซ่อม ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทที่มีความเสี่ยงในการใช้งานสัมผัสน้ำ และความชื้น เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องซักผ้า ปั๊มน้ำ ตู้เย็น เตาไฟฟ้า จะต้องทำการต่อสายดินที่มากับตัวเครื่องเข้ากับสายดินของบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานถูกไฟดูดเมื่อเกิดกระแสไฟรั่ว อีกทั้งยังช่วยป้องกันอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหายจากกระแสไฟฟ้าที่มากเกินอีกด้วย ในปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดมีการเดินสายดินมาให้พร้อม โดยสังเกตได้จากปลั๊กเสียบจะมี 3 ขา ซึ่งสามารถใช้กับเต้ารับ 3 รูที่มีการเดินสายดินไว้เรียบร้อยแล้ว

ตรวจระบบไฟฟ้าฉบับเจ้าของบ้าน
ภาพ: ตัวอย่างผังการเดินสายดินกับเครื่องใช้ฟ้า
ตรวจระบบไฟฟ้าฉบับเจ้าของบ้าน
ภาพ: ตัวอย่างปลั๊กเสียบ 3 ขา ซึ่งมีการเดินสายดินไว้เรียบร้อยแล้ว

จะเห็นว่าสำหรับบ้านเก่าที่อยู่อาศัยมานานกว่า 10-15 ปี ขึ้นไปนั้น การตรวจระบบไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยที่ไม่อาจมองข้าม และวิธีการเช็กระบบไฟบ้านแบบง่ายๆ ที่แนะนำไปข้างต้น จะช่วยทำให้เจ้าของบ้านสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างสบายใจ ปลอดภัย ไร้กังวลได้

เรื่องโดย: วิลาวัณย์ ประมวลวรกิจ จาก SCG Home Experience

ใส่ความเห็น

×